Friday, 23 August 2013
ช่วงชุลมุนและปรับคาดการณ์
« ปัจจัยลบตบเท้ามาแล้ว | Main | Dollar Cost Averaging (DCA) »หุ้นไทยยังไม่พ้นเคราะห์ และเป็นเดือนที่ 3 แล้วที่เผชิญกับปัจจัยลบตลบพลิกกลับจากภาพบวกในอดีต ทั้งความวิตกว่าเศรษฐกิจไทยที่เคยเติบโตอย่างเข้มแข็งกลับอ่อนล้าร่วงลงอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ความวิตกเรื่อง Fed เตรียมลดมาตรการ QE ก่อนจะค่อยๆ ไปสู่วันที่ไร้ QE ในอีกราว 1 ถึง 1.5 ปีข้างหน้า ทำให้กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติ เลี้ยวออกอย่างชุลมุน
และยิ่งเมื่อมีการประกาศ GDP ไตรมาส 2 ของไทย โตน้อยกว่าคาด คือ 2.8% YOY
และหากดูแบบ QOQ เทียบกับไตรมาสก่อน) ก็ติดลบ 0.3% และติดลบแบบ QOQ ต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส
กองทัพลงทุนต่างชาติจึงชิงกันออกชุลมุนยิ่งกว่าเดิมอย่างที่เห็น
นี่ยังโชคดีที่ปัจจัยลบอันดับ 3 คือความวิตกทางการเมืองนอกสภายุติไปก่อน แต่ก็ยังเป็นที่ต้องชำเลืองหางตามองความคืบหน้าของ พรบ.นิรโทษกรรมพร้อมกับการประท้วงนอกสภาว่าจะกลับมาหรือไม่ รวมถึงท่าทีของกลุ่มพันธมิตร ขณะที่ผมนั่งเขียนคอลัมน์ ก็เห็นข่าวโปรยออกมาว่า ค่ำวันศุกร์จะแถลงท่าทีครั้งสำคัญ คงต้องตามข่าวดีให้ดี
ในแง่มุมของนักวิเคราะห์การลงทุน ขณะนี้ทุกคนกำลังเร่งทำการประเมินผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจไทยอ่อนตัวแรงกว่าที่คาด ผนวกกับการขายหนีชุลมุนของต่างชาติแรงกว่าที่คิด และยังส่งผลให้บาทอ่อนกว่าที่คะเน พร้อมๆ กับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ได้ขยับขึ้นแล้ว 0.7% จนถึง 1.2% ยกตัวอย่างจาก พันธบัตรไทยอายุ 5 ปี กับพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี)
บางสำนักได้ทยอยปัดฝุ่นปรับลดผลกำไรของหุ้นบางหมวดออกมาบ้างแล้ว แต่เนื่องจากแต่ละสำนักต้องทำวิเคราะห์หุ้นตั้งแต่ 70 บริษัทจนถึง 150 บริษัท จึงอาจต้องใช้เวลาราว 1 สัปดาห์ สำหรับปัดฝุ่นเม็ดใหญ่ๆ และอาจมีการปัดฝุ่นที่เหลือร่องรอยต่อใน 2-3 สัปดาห์หลังจากเก็บข้อมูลและทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารเพิ่มเติม
แม้ยังปัดฝุ่นกันไม่เสร็จสิ้นดี แต่ทิศทางก็น่าจะพอมองเห็นได้ว่า กระแสหลักๆ ในช่วง 1 ถึง 2 เดือนนี้ก็คือ
1. เกือบทุกสำนักวิจัย คงต้องปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ลงจาก 4.2-4.6% แล้วแต่สำนัก) ลงมากองที่แถว 4.0% ลงไปถึง 3.8% เนื่องจากทิศทางความอ่อนล้าของการบริโภคในประเทศที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคาด ขณะที่ภาคส่งออกช่วง 2-3 เดือนนี้อ่อนแรงกว่าที่เคยคิด
ตัวแปรนี้ลดทอนกำลังใจกองทัพลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างมาก
2. ประมาณการเติบโตของกำไรต่อหุ้นปี 56 จากประมาณ 20% อาจจะไหลลงมาราว 3-5% แล้วแต่สำนัก) ตัวแปรนี้ทำให้มูลค่าหุ้นหดหายลงไปไม่น้อยกว่า 3-5% เช่นเดียวกัน
3. ค่าเงินบาทที่อ่อนมาที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ ด้วยการที่เงินทุนชุลมุนไหลออกก็มีโอกาสอ่อนตัวได้อีก ถ้าเราไม่ลืมไปว่า ช่วงปี 2552 ตรงจุดเริ่มต้นของการไหลเข้าของเงินเก็งกำไรต่างชาติ เงินบาทอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ การจะไป 32.5-33.0 บาท จึงไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่ออะไร จากกระแสทุนไหลออก
4. อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.คงไม่ลดลงแล้ว เนื่องจากสถานการณ์กลับทิศและดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดพันธบัตรสหรัฐและไทยขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว จากพิษสงความวิตกลด QE
5. คาดการณ์ดัชนีราคาหุ้นของแต่ละสำนักน่าจะลดลงโดยเฉลี่ย 9-11% โดยผมตีความด้วยสมมติฐานส่วนตัวว่า จากผลกำไรที่ลดลงประมาณสัก 3-5% จากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรขึ้นไปในอีกเดือนนี้มีผลกระทบมูลค่าหุ้นประมาณ 3% และความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจมีความวิตกม๊อบอีกรอบเผื่อไว้สัก 3% เหมือนต้นเดือน ส.ค.
ดังนั้น คาดคะเนโดยส่วนตัวเทียบกับโพลล์ที่นักวิเคราะห์เคยตอบไว้เมื่อต้น ก.ค.56 ที่บอกว่าสิ้นปีจะปิดที่ 1,569 จุด และจุดต่ำสุดช่วง ก.ค.-ธ.ค. อยู่ที่ 1,329 จุด
ถ้าผมเชื่อว่ามูลค่าควรจะลดลงสัก 9-11% ตามที่เรียนข้างต้น และหากไม่มีตัวแปรลบมากกว่านี้ ผมก็พอหวังได้ว่าสิ้นปีดัชนีอาจจะกลับไปที่ 1,396-1,428 จุด
ราคาหุ้นที่ตกลึกจากนี้อีก จึงน่าจะคุ้มเสี่ยงในระยะยาว แต่สำหรับภาพระยะสั้น 1-2 สัปดาห์นี้ ต้องเตรียมใจไว้ว่า ยังมีโอกาสถลาไปตามตัวแปรที่เล่ามาข้างต้นครับ
วันนี้พื้นที่คอลัมน์เต็มแล้ว พบกันใหม่เดือนหน้า และฝากถึงผู้สนใจเติมความรู้ และนับชั่วโมงต่อใบอนุญาตต่างๆ ว่า สมาคมฯ จัดอบรม “การวิเคราะห์งบการเงิน" จุดเริ่มต้นของการลงทุนเสาร์ที่ 7 ก.ย. ค่าสัมมนาและอาหารโรงแรม 3,000 บาท (ยังไม่รวม VAT) ติดต่อ 02-229-2355
[Trackback URL for this entry]
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ