Friday, 21 September 2012
สลับหน้าล่ากำไรหุ้น
« ดูแก้วชก ....แล้ววกมาที่หุ้น | Main | โค้งปลายปีที่ตลาดหุ้น »ด้วยความที่เดือนนึงผมถึงจะเขียนคอลัมน์สักครั้ง แต่มีเรื่องราวที่อยากพูดสื่อสารไปยังผู้อ่านผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในแวดวงตลาดหุ้นเยอะแยะไปหมด จึงขอปรับสไตล์การเขียนคอลัมน์วันนี้เป็นแบบแตะเป็นประเด็นสั้นๆ ครับ
· นักข่าวหลายคนถามเรื่อง Survey รอบใหม่ของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ ขอเวลาแป๊บนึง ช่วงเดือนนี้ถึง ต.ค. สมาคมฯ งานเพรียบ ทำแทบไม่ทัน ไม่เว้นเสาร์หรืออาทิตย์ที่มีจัดอบรมประมาณ 7-8 หัวข้อต่อเนื่อง
· เสาร์พรุ่งนี้ 22 ก.ย.55 ก็มีเรื่องอบรมน่าสนใจมาก “เจาะลึกกรณีศึกษาการวิเคราะห์งบฯ จากตัวอย่างจริง” โดย ดร.สันสฤต วิจิตรเลขการจากภาควิชาบัญชี ม.เกษตร สอนได้สนุกสนานมาก และเนื้อหาสรุปดีมีกรณีงบตัวอย่างจริง 4 อุตสาหกรรม ถ้าสนใจโทร02-229-2355 นับชั่วโมงนักวิเคราะห์ฯ ผู้แนะนำการลงทุน ผู้ทำและผู้สอบบัญชีได้ จัด รร.เอส 31ต้นชอยสุขุมวิท 31
· บอกกล่าวถึง นักวิเคราะห์และบุคลากรของ บล. หลักสูตรอบรมนักวิเคราะห์คุณภาพ(เชิงปฏิบัติการ) ของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ โดยการสนับสนุนของ TSI เปิดแล้ว รุ่นนี้ให้สิทธิพิเศษบริษัทหลักทรัพย์) อบรมโดยผู้เชี่ยวชาญระดับมือหนึ่งในแต่ละหัวข้ออบรม 31 ชั่วโมง ฝึกจนถึงขั้นทำบทวิจัยนำเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิเคราะห์ทำการชี้แนะวิจารณ์งานเขียนและการพูดนำเสนอ
· รุ่นต่อไปจะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเรียนได้บ้าง ในต้น ม.ค.56 ผู้สนใจรวมถึงบรรดานิสิตนักศึกษาที่ผมไปเชิญชวนไว้ตอนไปสอนที่คณะ แจ้งความสนใจเข้ามาก่อนได้ ที่ 02-229-2356 คุณจินดารัตน์
· QE3 ของ Fed เป็นแรงส่งล่าสุด ที่ส่งให้ SET Index ขยับเข้าใกล้ 1,300 จุด แม้จะคาดกันไว้ล่วงหน้าบ้าง แต่ก็มีแรงแถมต่อหลังแถลง
· แม้ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปจะอ่อนล้าติดลบ ว่างงานท่วมท้นโดยเฉพาะประเทศที่อ่อนล้าหนักอย่างกรีซ และที่ยืนชะเง้อคอเข้าแถวต่อมาอย่างสเปนกับอีกหลายประเทศ แต่คำว่า “เงินง้างได้ทุกสิ่ง” ที่เราเคยได้ยินมานานก็ยังขลังอยู่ เป็นคำตอบว่าทำไมหุ้นขึ้นได้ขึ้นดีในปีนี้ สวนทางเศรษฐกิจ
· สำนักวิจัยหลายแห่งมีทีท่าให้ระมัดระวังยิ่งกว่าเดิม เช่น เอเซียพลัสมองว่าดัชนี้แถวนี้ P/E ที่ใช้ E ของปี 55 ปาเข้าไปใกล้ 14.5 เท่า ดูแล้วไม่ดึงดูดให้ลงทุนนัก
· อย่างไรก็ตาม วันก่อนดูข้อมูลวิจัยของทิสโก้เห็นประมาณการใช้ E ปี 55 แล้ว มองว่าช่วงนี้ P/E 55F ประมาณ 14.1 เท่า ต่างกันนิดหน่อย
· แตะถึงตรงนี้ ผมนึกถึงคำถามที่เคยถูกถามมาหลายทีในช่วงหลายปีว่า ทำไมแต่ละสำนักพยากรณ์ตัวเลขไม่เท่ากัน ขอเรียนให้ผู้ลงทุนทราบว่า ความแตกต่างขึ้นอยู่กับสมมติฐานทางเศรษฐกิจ ธุรกิจและโมเดลการเงินที่แตกต่างกัน
· ในเรื่องการวิเคราะห์คาดการณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนนั้น สิ่งที่ไม่แน่นอนที่สุดคือ การวิเคราะห์ราคาหุ้นมีความคลาดเคลื่อนผันผวนได้เสมอไม่น้อยกว่า 20-30% รองลงมาคือคาดการณ์ผลกำไรสุทธิของบริษัท ถัดลงมาคือ พยากรณ์รายได้ของบริษัท ยากน้อยลงมาอีกนิดคือ ประมาณยอดขายทั้งอุตสาหกรรม แล้วค่อยเป็นการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งระดับผิดพลาดมักจะแค่สักเปอร์เซ็นต์เดียว
· ช่วงเดือนหลังมานี้สำนักวิเคราะห์พื้นฐานใช้สูตรคัดสรรหุ้นอย่างพิถีพิถันสุดๆ เพราะหุ้นดีจำนวนมากถูกกระชากขึ้นไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในปีเดียว บางตัวใกล้มูลค่าหรือเกินมูลค่าพื้นฐาน โปรดอ่านบทวิเคราะห์พื้นฐาน หรือเข้าดูตัวเลขวิเคราะห์ได้ใน SAA Consensus ที่เป็นบริการฟรีจากน้ำใจของพี่น้องนักวิเคราะห์ของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ โดยการสนับสนุนของ Settrade ดูได้ทาง www.saa-thai.org มองทางขวามือเลื่อนลงมานิดนึงเจอคำว่า SAA Consensus เลย
· หลายสำนักเชื่อสูตร “สลับหน้าล่ากำไรหุ้น” 5-6 วันที่ผ่านมาจึงหันไปมองบลูชิพที่ถูกลืมไปช่วงหนึ่งเช่น SCC ที่มีมูลค่าพื้นฐานเฉลี่ยใน SAA Consensus ที่ 387 บาท ทำให้ผมนึกเทียบกับวงการฟุตบอลที่อดีตบลูชิพแบบไมเคิล โอเว่น หยุดไปนานตอนนี้ได้ทีมลงแล้วที่สโต๊คซิตี้ ขอให้ยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำเหมือน SCC ที่เริ่มยิงแล้ว
· ข่าวดีของคนที่อยากมีบทวิเคราะห์หุ้นพื้นฐาน จากการประสานงานกันต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งปีระหว่างสมาคมนักวิเคราะห์ฯ กับ ก.ล.ต.และสมาคม บล. มีความเห็นที่ตรงกันหลายเรื่องแล้ว เช่นการที่ บล.ต้องมีบทวิเคราะห์พื้นฐานไม่ต่ำกว่า 30 หุ้น ซึ่งดีกว่าปล่อยเสรี) และต้องมีการควบคุมคุณภาพ
· ด้านการควบคุมคุณภาพบทวิเคราะห์นั้น สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้ยกร่างหลักเกณฑ์บทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพและแลกเปลี่ยนความเห็นกับสมาคมฯ บล. รวมทั้งประชุมนักวิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขไปหลายรอบ จนจบแล้วเมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 ส่งให้ ก.ล.ต.และสมาคม บล.เรียบร้อยแล้ว
· การประสานงานล่าสุดที่ยังไม่เป็นข่าวเลย คือการที่ บล.ต้องมีนักวิเคราะห์ 4 คน ทั้งนี้ อาจมีบาง บล.ใช้ทีมวิจัยของบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศ ก็อนุโลมให้นับได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่เขียนบทวิเคราะห์หุ้นของประเทศไทย และต้องแจกจ่ายผู้ลงทุนในประเทศไทยด้วย เป็นต้น
· น้ำท่วมหรือไม่ เป็นประเด็นที่เริ่มวาบหวิวในหัวใจ หลังจากสุโขทัยกับอีกหลายจังหวัดโดนไปแล้ว ตามด้วยกรุงเทพถูกน้ำท่วมขังหลังฝนตกระดับปานกลาง ไม่ใช่ตกกระหน่ำข้ามวันอะไรเลย
· ระบบระบายน้ำเขตกรุงเทพและปริมณฑลต้องมีปัญหาอะไรแน่ๆ ปัจจุบันปีนี้ผมสังเกตว่าน้ำท่วมขังในระดับทำให้รถยนต์เกิดความเสี่ยงนั้น เกิดถี่และง่ายมากๆ
· อาจต้องเผื่อใจว่าถ้าน้ำท่วมบ้างในระดับสัก 1 ใน 3 ของปีก่อนจะเป็นอย่างไร ความพร้อมของไทยในปีนี้ดูเหมือนจะมีแค่น้ำในเขื่อนต่ำกว่าปีก่อนมากกับการที่ภาคเอกชนทำแนวป้องกันรอบโรงงานกันไว้
· แต่เรื่องความคืบหน้าของสารพัดโครงการป้องกันน้ำท่วมคืบหน้าไปคืบเดียวจริงๆ บวกกับอากัปอาการที่ระบบระบายน้ำคล้ายกับช้ากว่าในปีก่อนๆ (เทียบกับปริมาณฝนที่เคยตกหนักในปีก่อนๆ ด้วย)
· ช่วงนี้เนื่องจากตลาดหุ้นไทย เริ่มสลับหน้าล่ากำไรหุ้นกันอยู่ ผมคิดว่าน่าจะเริ่มหยิบหุ้นดีถ้าน้ำท่วมนิดๆ มาวิเคราะห์ดูหน่อยว่าน่าสนใจหรือไม่ เช่น บรรดาธุรกิจค้าปลีก อาหารสำเร็จรูปพร้อมหรือกึ่งพร้อมรับประทาน วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจสื่อสาร ฝากน้องๆ นักวิเคราะห์เจาะให้ด้วย พี่สมบัติอยากอ่าน
· จังหวะนี้ไปถึงปี 56 การวิเคราะห์ทิศทางหุ้น ทองคำ รวมถึงเลือกเฟ้นหุ้นให้กำไรยากขึ้นไปอีก ด้วยมีข่าวดีผสมความเสี่ยงหนักหลายเรื่อง QE3 บวกกับการบริโภคในประเทศที่ดีด้วยมาตรการปีนี้ของรัฐบาลจะสู้กับปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตหนี้ของยุโรปได้หรือไม่
· “มหกรรมวิเคราะห์หลักทรัพย์และการลงทุน” ที่ร่วมอยู่ในงาน SET in the City วันที่ 22-23 พ.ย.55 นี้ น่าจะไขคำตอบได้ งานนี้มีหนังสือคู่มือผู้ลงทุนของสมาคมฯ ที่เคยสร้างความร้อนแรงจนหนังสือหมดภายใน 2 วัน ไปไม่ถึงวันเสาร์-อาทิตย์ กำลังจัดเตรียมและเปิดรับผู้สนับสนุนการพิมพ์หนังสือจาก บล. บลจ. ธนาคาร ธุรกิจอสังหา ประกันภัยต่างๆ บจ.ต่างๆ ค่ายรถยนต์ ก็ยินดีต้อนรับครับ
พบกันใหม่เดือนหน้าครับ
[Trackback URL for this entry]
ถูกใจทีบล.ต้องมีบทวิเคราะห์อย่างน้อย๓๐บริษัทค่ะ แต่อยากให้เพิ่มว่าทุกบมจ.ที่อยู่ในตลาดต้องมีบล.วิเคราะห์ ตอนนี้บางหุ้นหาข้อมูลไม่ได้ แม้ในsettrade ค่ะ