Friday, 17 August 2012
ดูแก้วชก ....แล้ววกมาที่หุ้น
« อีกมุมคิดกับรถคันแรก | Main | สลับหน้าล่ากำไรหุ้น »กีฬามวยถือเป็นกีฬาสุดฮอตยอดฮิตที่คนไทยติดตามชมกันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อนักมวยไทยโดดขึ้นสังเวียนโชว์เชิงชกในระดับโลก ทั้งมวยอาชีพหรือมวยสมัครเล่นก็ตาม
ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ชอบติดตามดูมวยไม่น้อยกว่าชอบดูฟุตบอล ถามว่าชอบแค่ไหนดูมานานแค่ไหน เอาเป็นว่า ผมจำลีลาของพเยาว์ พูนธรัตน์ เหรียญทองแดงแรกของไทยในโอลิมปิกได้
แน่นอนมวยอาชีพจำย้อนไปถึงลีลากระชากแชมป์ของหมัดทะลวงไส้อย่างเขาทรายได้ ไปถึงแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ แล้วถ้าบอกว่าตอนเป็นนักเรียนเคยโดดเรียนไปนั่งดูทีวีเชียร์มูฮัมหมัด อาลี คุณๆ จะตกใจมั้ยเนี่ย
โปรยพื้นฐานมาขนาดนี้ก็เพื่อจะบอกกับ AIBA หรือไอบ้าว่า อั๊วก็ดูมวยมานาน นับว่าดูมวยเป็นก็น่าจะได้ ผมว่าแก้ว พงษ์ประยูร น่าจะชนะจริงๆ ยิ่งไปดูในยูทูป เอาแบบฉายเต็มๆ ทุกยกเลย ไม่เอาที่เลือกตัดต่อด้วย ยิ่งดูก็ยิ่งชนะครับ
มีข้อมูลอันหนึ่งที่น่าสนใจ ได้เห็นจากทางทีวี TNN24 รายการที่คุณฮาร์ท กับคุณณัชชารีย์ ดำเนินรายการ (2 ท่านนี้รวมกับคุณชนิตร์นันทน์ที่วันนั้นไม่ได้มา เป็นทีมผู้ดำเนินรายการที่ผมชอบมาก ขอชื่นชมครับ) นำคะแนนที่กรรมการผู้ตัดสินในคู่แก้วกับ ซู ชิ หมิง ทั้ง 5 คนมาแจงทีละยก และรวมทั้ง 3 ยกของแต่ละคน
ถ้าจำไม่ผิด มีกรรมการ 1 ราย จากอาเซอร์ไบจัน ที่ให้แก้วชนะฉิวเฉียด 1 คะแนนเมื่อครบ 3 ยก
มีกรรมการอีก 3 คน ให้แก้วแพ้ ผมจำคะแนนไม่ได้ น่าจะสัก 2-3 คะแนน ซึ่งก็ถือว่าค้านสายตาอยู่แล้ว
แต่เจ้ากรรมการคนที่ 5 จากโมร็อคโค นี่ผมงงสุดๆ ให้แก้วแพ้ทุกยก ยกละ 3 ถึง 4 คะแนน แม้แต่ยก 3 ที่แก้วไล่ถลุง แกก็ยังให้แก้วแพ้ประมาณ 8-4 รวม 3 ยกให้แก้วแพ้ขาดลอย 20-9 อะไรประมาณนี้
แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นจนมาถึงขนาดนี้ ไปประท้วงอะไรไม่ได้ เพราะเกิน 5 นาที หลังครบยกแล้ว เราก็คงทำใจ และคนไทยทั้งประเทศก็ได้ร่วมกันดูแลจิตใจของแก้วเป็นอย่างดี โดยแสดงความชื่นชมและขอบคุณแก้ว พงษ์ประยูรและครอบครัว จนแก้วมีความสุขแทบไม่แตกต่างจากการได้เหรียญทอง
เมื่อดูกีฬามวยแล้ว ผมก็ชอบนึกเปรียบเทียบไปกับเรื่องการลงทุน คล้ายๆ กับที่ผมเคยนำเรื่องฟุตบอลมานั่งนึกเทียบเคียงกับหุ้น
การเทียบแบบนี้ ผมเชื่อว่าทั้งตัวเรา หรือคนอ่านจะเข้าใจมุมมองที่สนุกขึ้นในการลงทุน และแปลกแต่จริงที่หลายสิ่งโยงมาใช้ทำความเข้าใจได้อย่างดี
สิ่งที่เทียบเคียงได้ระหว่างมวยกับหุ้นมีดังต่อไปนี้
1. ปัจจัยพื้นฐานที่ดีทำให้ประสบความสำเร็จ
แก้ว พงษ์ประยูรนั้นเป็นนักมวยที่วางรากฐานปัจจัยพื้นฐานการชกมวยสากลมาได้เป็นอย่างดีเยี่ยม แม้ตัวจะเล็กช่วงชกสั้นมาก แต่การ์ดรัดกุมมากๆ ยากที่คู่ชกจะแตะต้องใบหน้าหรือจิ้มท้องกันง่ายๆ หนำซ้ำแก้วปล่อยหมัดเร็ว แม่น (บางอารมณ์ ผมแกล้งสงสัยว่าหมัดเร็วจนกรรมการตาถั่วดูไม่ทันว่าต่อยไปแล้ว)
อย่างไรก็ตาม นักชกอย่าง ซู ชิ หมิงหรือคู่มวยรุ่นอื่นที่เข้ารอบลึกๆ เท่าที่ได้ดูถือได้ว่ามีปัจจัยพื้นฐานดีทั้งสิ้น ซู ชิ หมิงก็มีลีลาปราดเปรียว หลบเลี้ยวซ้ายขวาชกยากพอสมควร ซึ่งผมไม่นับรวมลูกไถนาที่พุ่งชนไถแก้วไปครึ่งเวที แต่สงสัยกรรมการบางคนชอบลูกไถนา)
ที่สุดแล้วคนที่ได้เหรียญทองแดง เหรีญเงินหรือเหรียญทองทั้งหมด 4 คนต่อรุ่นถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ แน่นอนว่าเหรียญเงินที่น่าจะเป็นทองของแก้ว ถือว่าเป็นสุดยอดของนักชกรุ่นนี้ที่มีนับร้อยคน
สำหรับด้านของหุ้นนั้น ก็คล้ายๆ กับมวยนี่แหละ ปัจจัยพื้นฐานที่ดีทางธุรกิจ การบริหารจัดการ การเงิน และ Brand ที่ดีจะทำให้หุ้นบริษัทนั้นมีโอกาสสูงที่จะได้คะแนนจากนักลงทุนซึ่งเสมือนเป็นกรรมการให้คะแนน
กรรมการหรือนักลงทุนหลายคนยังให้น้ำหนักปัจจัยพื้นฐานที่ดี แม้กระแสโดยรวมจะแห่ไปทางอื่น อย่าลืมว่า ยังมีกรรมการที่ให้แก้วชนะเหมือนกัน
นอกจากนั้น เราลองดูผลการตัดสินในคู่อื่นๆ โดยภาพรวมแล้ว ส่วนใหญ่ก็ตัดสินไปตามปัจจัยพื้นฐานของมวยและของหุ้นนะครับ
2. มวยและหุ้นที่จะขึ้นได้ต้องถูกใจกรรมการ
แน่ละครับ กรรมการมวยส่วนใหญ่ก็จะมีแนวทางให้คะแนนที่แตกต่างกันไป แม้จะมีคู่มือหรือมาตรฐานของการให้คะแนนที่เป็นแนวทางไว้ แต่ถ้าเราดูคะแนนหลายคู่ที่สูสีกัน กรรมการจะให้คะแนนสวนทางกันก็มี
ยิ่งดูคู่ของแก้วนั้น กรรมการโมร็อคโค ให้คะแนนต่างจากคนอื่นแบบฟ้ากับเหว เป็นสิ่งที่แสดงความแตกต่างของกรรมการแต่ละคนอย่างชัดเจน
นักลงทุนซึ่งเปรียบเสมือนกรรมการให้คะแนนหุ้นก็เหมือนกันครับ บางคนสาดคะแนนแรงมาก โครมเดียว 4 คะแนนต่อยก หุ้นตัวนั้นก็วิ่งพรวดได้ทันที
นักลงทุนบางคนให้คะแนนกับหุ้นที่ใกล้ชิดผู้บริหารประเทศ บางคนเลือกหุ้นพื้นฐานดี บางคนชอบหุ้นมีกระแส บางคนชอบหุ้นมีสัญญาณซื้อทางเทคนิค บางคนชอบหุ้นดีที่มีบทวิจัยจากนักวิเคราะห์ฯ
เมื่อเข้าใจโลกของมวยและหุ้นแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องถ้าอยากให้มวยและหุ้นของเราพุ่งขึ้นไปได้รับเหรียญเยอะๆ ก็คงต้องหาวิธีให้ถูกใจบรรดากรรมการให้มากขึ้น
ด้านของมวยนั้น ฝากว่าปัจจัยพื้นฐานที่ดีของนักมวยก็ควรทำต่อไป แต่ด้านของกรรมวิธีและศิลปะในการนำเสนอให้บรรดากรรมการเหลียวหน้ามามองไทยหรือเกรงใจกันสักนิดก็เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องในอนาคตไปหาวิธีการกัน
ส่วนด้านของหุ้นนั้น บรรดาผู้บริหารบริษัท ถ้าสงสัยว่าทำไมบริษัทเราก็ดีมีพื้นฐานขั้นเทพ แต่บรรดากรรมการนักลงทุนไม่ให้คะแนน บางทีอาจต้องปรับปรุงกระบวนการให้ข้อมูลให้ไปถึงยังบรรดานักวิเคราะห์ บรรดานักลงทุน
ส่วนผู้ลงทุนแต่ละคนนั้น คงต้องพยายามอ่านทางของตลาดโดยรวม ซึ่งเหมือนเราเดาใจกรรมการผู้ให้คะแนน ถ้าเขาเน้น Fund flow เราก็ต้องเดาว่า Fund flow เข้าที่หุ้นไหน เขาเน้นหุ้นรับนโยบายรัฐบาล เราก็ดูว่านโยบายจะส่งให้ธุรกิจอะไรดี ฯลฯ
3. มวยตัวใหญ่กับบริษัทใหญ่ได้เปรียบ
แน่นอนว่า มวยตัวใหญ่ช่วงชกที่ได้เปรียบ ยื่นแขนไปพร้อมกันก็ถึงเป้าก่อน หรือมวยตัวหนาล่ำกว่า ปะทะกัน มวยตัวบางก็ถลาเสียเหลี่ยมเสียจังหวะ
ถ้าแก้ว ตัวใหญ่เท่าคู่ต่อสู้ คือสูงกว่านี้สัก 5 เซนติเมตร หรือเตี้ยแต่ล่ำหนากว่านี้สัก 5 กิโล น้ำหนักธรรมชาติใกล้เคียงกัน หมัดของแก้วจะได้ผลยิ่งกว่านี้ โอกาสโดนตุกติกคงจะยากขึ้น คู่ต่อสู้คงหนีแก้วไม่ออกแน่
อย่างไรก็ตาม แก้วสามารถหาวิธีสู้แบบมวยเล็ก คือฝึกฝนด้านความเร็วในการปล่อยหมัดแบบแม่นๆ แล้วดึงแขนกลับมาป้องกันแบบรัดกุมต่อไปอีกด้วย
แนวทางแบบนี้ ทางด้านของหุ้น แน่นอนบริษัทใหญ่ก็น่าจะได้เปรียบบริษัทเล็ก ถ้าลงสนามเดียวกัน บริษัทที่เล็กกว่าต้องทำคล้ายแก้ว ใช้ความถนัดของความเล็ก รบแบบเข้าออกเร็ว รัดกุมแต่ขยับตัวให้เร็ว
ผมลองนึกไปถึงธนาคารใหญ่กับธนาคารเล็ก แน่นอนว่ามีสิ่งที่ได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ แต่ธนาคารเล็กหลายแห่งทำสิ่งที่ธนาคารใหญ่ทำน้อย เช่น การเน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถ ซึ่งถนัดกว่า เข้าใจวิธีกว่าและถือว่ากล้าเสี่ยงกว่า ถ้าระบบรัดกุมก็เสี่ยงเข้าแลกหมัดได้ เป็นต้น หรือการทำออมทรัพย์แบบพิเศษดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารใหญ่เยอะ แต่มีเงื่อนไขอย่าถอนเกินจำนวนครั้ง ซึ่งธนาคารใหญ่ไม่กล้าทำด้วย
ทางด้านผู้ลงทุนในยามที่เลือกหุ้นใหญ่ที่พื้นฐานดี ก็ย่อมได้เปรียบกว่า แต่บางสมรภูมิ หุ้นเล็กถ้ามีแนวทางที่ดีจริงๆ รัดกุมพอ มีวิธีสู้กับบริษัทได้จริง ก็น่าสนใจคล้ายกับแก้ว พงษ์ประยูร
ย่อหน้าท้ายๆ หลายคนมักอยากให้จบคอลัมน์ด้วยการบอกมาว่า ตลาดหุ้นจะดีหรือไม่ หุ้นอะไรจะมา ผมก็ขอเรียนว่า นักวิเคราะห์นั้นเพียงแค่คาดคะเนปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ซึ่งอาจจะตรงกับใจหรือไม่ตรงกับใจของบรรดากรรมการนักลงทุนก็ได้
แต่เมื่อดูจากสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและทางการเงินการคลังของยุโรป ปัญหานี้น่าจะสู้กันยาว ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับต่างประเทศมาก หรือเกี่ยวโยงกับราคาตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ยกนี้น่าจะไม่ค่อยเข้าตากรรมการ
ผมคิดว่า น่าจะเกาะติดไปทางธุรกิจในประเทศ และมีกระแสธุรกิจที่ดีอยู่ ธุรกิจธนาคารสมควรมีธุรกิจที่ดี และรอบนี้ธนาคารใหญ่ก็ได้ เล็กก็ดีเพราะเล็กแล้วมีวิธีชกแบบเล็ก แต่ธนาคารที่เริ่มหมดแรงยก 3 ขอเพิ่มทุนก่อนนั้น กรรมการอาจจะไม่ค่อยให้คะแนน รอดูเรี่ยวแรงช่วงเพิ่มทุนเสร็จน่าจะปราดเปรียวขึ้น
ส่วนธุรกิจสื่อสารตัวใหญ่นั้น เราชอบกันมานานตลอดอายุรัฐบาลนี้ก็ว่าได้ ล่าสุดนักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า โหมออกหมัดไปเยอะ เหมือนอยากหยุดหอบหายใจ ข้อมูลประเมินมูลค่าหุ้นล่าสุดใน SAA Consensus สื่อสารบางตัวเริ่มใกล้มูลค่า แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าหลังจากแอบพักเหนื่อยเสร็จ ช่วงหลายเดือนข้างหน้าอาจมีโอกาสเป็นที่สนใจอีก
ท้ายที่สุด อยากฝากว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ดีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เดาใจกรรมการนักลงทุนได้ เชิญชวนให้ดูข้อมูลสรุปประมาณการ 180 หุ้นใน SAA Consensus เข้าดูได้ 2 ทาง แต่อยากให้เข้าผ่านเว็บไซต์ www.saa-thai.org มองด้านขวาเลื่อนหน้าลงนิดนึง เจอเลยครับ
สัมมนาเพิ่มความรู้และนับชั่วโมงต่อใบอนุญาตนักวิเคราะห์ ผู้แนะนำการลงทุน ผู้สอบบัญชี โทร.02-229-2355-6
- หัวข้อ "การวิเคราะห์งบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ใช้ในปัจจุบัน"
เสาร์ที่ 8 กันยายน 2555 เวลา 8.45-16.00 น.โรงแรม เอส31 สุขุมวิท - หัวข้อ "การวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์"
เสาร์ที่ 15 กันยายน 2555 เวลา 8.45-16.00 น. โรงแรม เอส31 สุขุมวิท - หัวข้อ "เจาะลึกกลอุบายในการบันทึกบัญชี ในมุมมองและประสบการณ์จากกรมสรรพากรและผู้สอบบัญชี"
อาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2555 เวลา 8.45-16.00 น. โรงแรม เอส31 สุขุมวิท
พบกันใหม่เดือนหน้าครับ
[Trackback URL for this entry]