Wednesday, 27 June 2012

ภาระหรือพารุก

« บ่นไปไร้ค่า...หาวิธีรับเงินเฟ้อดีกว่า | Main | อีกมุมคิดกับรถคันแรก »

ช่วง 3-4 เดือนล่าสุด ผมมีข้อสังเกตว่า  ในแวดวงตลาดทุนของประเทศไทย มีการพูดถึงประเด็นของงานวิเคราะห์หุ้นกันมากเป็นพิเศษ  ทั้งมุมสนับสนุนและมุมโต้แย้งเกี่ยวกับการบังคับ บล.ให้ทำงานวิเคราะห์วิจัยดีหรือไม่    หรือควรปล่อยเสรีไม่มีการบังคับกัน   หรือจะมีทีมวิจัยอิสระมารับงานไปบางส่วนดี  หรือ ฯลฯ

             ผมพยายามนึกย้อนเวลาไปนานๆ กว่า 20 ปี เท่าที่ผมมีโอกาสอยู่ในแวดวงวิเคราะห์การลงทุน   น่าจะไม่มีเวลาใดเลยที่การถกประเด็นเกี่ยวกับงานวิเคราะห์วิจัยหุ้นและการลงทุนจะมีฝ่ายหนุนโต้กับฝ่ายค้านสูสีใกล้เคียงกันได้ขนาดนี้

           ที่ผ่านมาในอดีต ส่วนใหญ่ไม่ค่อยโต้แย้งกันมาก คือถ้ากระแสทำบทวิจัยมา ก็แทบไม่มีใครค้าน  ทุกคนพร้อมใจแข่งกันทำ   และพอกระแสลดทีมวิจัยลงมาหลังปี 2541 ก็แทบไม่มีการโต้แย้งคัดค้าน

อดีตยุคทองบริการงานวิเคราะห์

        ยุคปี 2531 จนถึง 2540 เป็นยุคที่ทุก บล.แข่งขันงานวิเคราะห์วิจัยกันอย่างสั่นสะท้านแผ่นดิน    ทุก บล.ทุ่มทุนพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์การวิเคราะห์วิจัย  แย่งกันนำเสนอสู่นักลงทุน ถือเป็นการแข่งขันที่สนุกสนานรุกอย่างมีคุณภาพ

            ยุคนั้นผมเคยอยู่ในทีมวิจัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  ในช่วงปี 2540 จำได้ว่าทีมที่ผมอยู่และทีมคู่แข่งสำคัญๆ หลายทีมมีนักวิเคราะห์ 30-40 คน ต่อทีม  ทีมขนาดกลางๆ ก็มีระดับ 10-20 คนต่อทีม

ยุคหดตัวโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

         ยุค 2541 ยามยากของ บล. หลังต้มยำกุ้งระเบิด  บล.ต่างๆ ก็ยังแข่งขันบริการและงานวิจัย    ถึงแม้ทีมต่างๆ จะมีนักวิเคราะห์ลดลงเหลือ 5-10 คนต่อทีม ทีมใหญ่หน่อยก็เกินกว่า 10 คนไปบ้าง  สามัคคีกันปรับลดขนาดโดยไม่มีใครมาโต้แย้งในยามยาก  แต่ก็เห็นความจำเป็นของการต้องมีทีมวิเคราะห์วิจัยเหลืออยู่

              ยุคปลายปี 2544 ถือเป็นยุคตกต่ำที่สุด ของการทำงานวิเคราะห์วิจัยการลงทุน เนื่องจากมีการเปิดเสรีราคาค่าคอมมิชชั่นซื้อขายหุ้นจาก 0.50% เป็นแข่งเสรีอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมากำหนดขั้นต่ำของราคา   ทำให้กระแสหดตัวของวิเคราะห์วิจัยไหลลงไปเหลือเฉลี่ย 3-8 คนต่อทีม 

             ยุคนี้ได้รับการประคับประคองด้วยการที่ ปี 2549 สมาคมนักวิเคราะห์ฯ หารือกับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนั้น (คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง)  และเห็นตรงกันที่ บล. ควรจะมีนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างต่ำ 4 คน   ในช่วงเวลาที่ ตลท. จะยืดเวลาการเปิดเสรีราคาค่าคอมมิชชั่นซื้อขายหุ้นออกไปให้ 3 ปี (2550-2552) ตามด้วยขั้นบันไดอีก 2 ปี

2555 ประเด็นที่เห็นแย้งกัน

       มกราคม 2555 ช่วงเวลาเปิดเสรี ซึ่งรวม ถึงราคาค่าคอมมิชชั่น รวมไปถึงงานวิเคราะห์การลงทุนด้วย

            ตลอดเวลา 2 ปี ก่อนวันเปิดเสรีที่ว่านี้  ฝ่ายสนับสนุนให้มีการทำงานวิเคราะห์การลงทุน  ซึ่งนำเสนอโดยสมาคมนักวิเคราะห์ฯ  สู้กระแสส่วนใหญ่ไม่ได้  ผู้สนับสนุนอื่นๆ ที่มีประปรายได้แก่ นายกสมาคม บล.(คุณภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ)   CEO บล.และ บลจ.บางแห่ง (เช่น คุณมนตรี ศรไพศาล, คุณวรวรรณ ธาราภูมิ, คุณภควัต โกวิทวัฒนพงศ์และอีกหลายๆ ท่าน) ที่ไม่อยากให้เกิดการแข่งขันราคาจนไปลดงานวิเคราะห์วิจัยก็มาช่วยพูดเป็นระยะ แต่ก็ค้ำไม่อยู่

           แต่ 3-4 เดือนนี้   กระแสเริ่มพลิกกลับไปทางต้องการเห็นงานวิเคราะห์การลงทุน ทั้ง ก.ล.ต.,  ตลท. ต่างต้องการให้มีงานวิเคราะห์การลงทุนไว้บริการแก่ประชาชนผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ   กระทั่งรองนายกกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตนักวิเคราะห์ และอดีตผู้จัดการ ตลท. ในยามมาเปิดงานใดๆ ในตลาดทุน ก็เดินบอกกับ บล.ต่างๆ อยู่เสมอว่า ให้แข่งคุณภาพอย่าแข่งราคา

              ผมลองรวบรวมประเด็นที่เห็นแย้งกันในขณะนี้ ได้แก่

 

             1. เลขาธิการ ก.ล.ต. รวมถึง ผอ.หลายท่านมีท่าทีกังวลเรื่องจำนวนบทวิเคราะห์หุ้นทางปัจจัยพื้นฐานมีน้อยเกินไป   จาก SAA Consensus ประมาณ 250 หุ้นใน 5 ปีก่อน ลดมาเหลือ 160-180 หุ้นในปีนี้  ทั้งๆ ที่จำนวนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเกือบ 600 หุ้น  และมากขึ้นทุกๆ ปี   จึงมีท่าทีจะสั่งให้ บล.ที่ให้บริการลูกค้ารายย่อยต้องรับผิดชอบทำบทวิเคราะห์วิจัยทางปัจจัยพื้นฐานจำนวนหนึ่ง  เป็นขั้นบันไดตามมาร์เก็ตแชร์ จาก 15 หุ้น ไปจนถึง 100 หุ้น ตามลำดับไป

             ก.ล.ต.เริ่มจับทางได้ว่า เมื่อมีโบรกเกอร์หลายรายลดงานวิเคราะห์  รายใหญ่ๆ ที่เคยทำมากก็ทำน้อยลง  ซึ่งเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของการแข่งขัน  เมื่อคู่ต่อสู้มีอาวุธน้อยลงเราก็ไม่ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้มากนัก    แต่ถ้าคู่ต่อสู้เสริมอาวุธยุทโธปกรณ์มาก  เราก็คงต้องเพิ่มอาวุธขนานใหญ่ขยับขึ้นไป

            บล.หลายแห่งมีท่าทีไม่เห็นด้วยที่ ก.ล.ต.จะบังคับให้ต้องทำบทวิเคราะห์ ส่วนหนึ่งอาจยังรู้สึกว่า งบประมาณที่ใช้ทำทีมวิเคราะห์การลงทุนเป็นภาระที่หนักหนา ซึ่งในบางจังหวะก็อยากยืดหยุ่นปรับลดหรือเพิ่มตามจังหวะ  จึงไม่อยากถูกบังคับให้ต้องทำ

           

            2. ทีมวิเคราะห์เป็นภาระหรือพารุกกันแน่

           ในขณะที่ บล. หลายแห่งมองเสมอว่า   การมีทีมวิเคราะห์เป็นภาระค่าใช้จ่ายมากพอสมควร  คือราว 5-6% ของค่าใช้จ่ายรวม

          แต่อีกหลายๆ บล.กลับมองทีมวิเคราะห์การลงทุนเป็นสิ่งที่พารุก  ทำให้บริษัทเปิดเกมรุก  เหมือนทีมฟุตบอลที่ต้องมีผู้เล่นแดนกลางที่คุมจังหวะ คอยสร้างสรรค์เกมรุกที่หลากหลายเปิดบอลต่อไปยังเจ้าหน้าที่การตลาดที่เป็นผู้เล่นแดนหน้าให้เข้าทำประตูปิดเกมส์ได้อย่างไหลลื่นต่อเนื่อง

           สงสัยไหมครับทำไม บล. ที่พัฒนางานวิเคราะห์ไม่หยุดยั้งมาตลอด 20 ปี ทำไมทุกวันนี้ก็ยังมุ่งมั่นอยู่   เหมือนทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ต่อเนื่องแบบ แมนยู

          และก็มีอีกหลายๆ สำนัก ที่เร่งพัฒนาใน 5-10 ปีมานี้ สามารถเร่งตัวเองขึ้นมาอยู่แถวหน้าของบริการด้านงานวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ  คล้ายๆ กับทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้และเชลซี

                      ตารางแสดงจำนวนนักวิเคราะห์ของแต่ละ บล.

 
อันดับบริษัทหลักทรัพย์มีเลขทะเบียนยังไม่มีเลขทะเบียนรวม
1เอเซีย พลัส 14519
2ทิสโก้9615
3กสิกรไทย13215
4ภัทร11314
5เคที ซีมิโก้.12113
6ไทยพาณิชย์11213
7โนมูระ พัฒนสิน 11112
8บัวหลวง12012
9เมย์แบงก์ กิมเอ็ง 11112
10-32   2-11 ต่อ บล.
 รวม25839297
                    สำหรับในปมประเด็นของต้นทุนฝ่ายวิเคราะห์ที่สูงระดับ 5-6% ของต้นทุนรวมนั้น ส่วนตัวผมอยากให้ CEO บล.ต่างๆ ลองชั่งน้ำหนักระหว่างภาระกับพารุก  มันไม่คุ้มจริงหรือไม่  ผมเคยเห็นผลสำรวจผู้ลงทุนมาหลายๆ ครั้ง จำได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีกับ บล.ไหนนั้น จะมีเรื่องงานวิเคราะห์ของ บล.เป็นอันดับต้นๆ ของการเลือกใช้ บล.  และอันดับสูงกว่าปัจจัยเรื่องเจ้าหน้าที่การตลาดด้วยซ้ำไป

           ผมเองเห็นด้วยครับว่าความสามารถและบริการจากเจ้าหน้าที่การตลาดนั้นสำคัญมากกับผู้ลงทุน เหมือนศูนย์หน้าดีๆ แบบเวย์น รูนีย์  เพียงแต่ผลงานของทีมวิเคราะห์นั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้เล่นแดนหน้าเลย

            ผมเคยลองประมาณคร่าวๆ ดู พบว่า โดยเฉลี่ยทั้งระบบ  บล.จ่ายค่าตอบแทนรวมให้ทีมงานแดนหน้า (เจ้าหน้าที่การตลาด)  มากกว่าผู้เล่นแดนกลาง  ฝาายวิเคราะห์)  ประมาณ 10-15 เท่าตัว

           3. ควรมีทีมวิจัยอิสระมารับงานวิเคราะห์หุ้นเล็กหรือไม่อย่างไร

         หลายๆ ฝ่ายเห็นตรงกันแล้วว่า  การลงทุนมีความเสี่ยง  และประชาชนผู้ลงทุนที่ย้ายตัวเองมาจากการฝากเงินธนาคาร  จำเป็นต้องได้รับบริการงานวิเคราะห์หุ้นทางปัจจัยพื้นฐานไม่ใช่แค่คำแนะนำให้ซื้อขายจากเจ้าหน้าที่การตลาด หรือบทวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งไม่เพียงพอให้ประชาชนได้ชั่งตวงน้ำหนักความเสี่ยงทางธุรกิจกับโอกาสได้ฟันกำไร

          แต่ความจริงประการหนึ่งคือ  หุ้นที่มีขนาดมูลค่าตลาดและปริมาณการซื้อขายลำดับที่ประมาณ 101 ไปจนถึงอันดับ 500 กว่า  แทบไม่มี บล.ใดสามารถเข้าไปศึกษาวิเคราะห์มาบริการต่อประชาชนผู้งทุน

          ก.ล.ต.และ ตลท. ตลอดจนสมาคม บล. จึงหาหนทางที่จะให้มีหน่วยงานกลางมารับทำบทวิเคราะห์หุ้นเล็กๆ ที่ไม่มีใครทำแน่ๆ   ที่ผ่านมามีบุคคลที่เสนอตัวขันอาสาทำโครงการที่ว่านี้  แต่เมื่อประเมินต้นทุนแล้ว  จำเป็นต้องคิดค่าสนับสนุนจาก บล.ต่างๆ ในจำนวนที่สูงในมุมมองของ บล.  แต่ตัวเลขที่ว่านั้น ทางผู้เสนอรับงานก็มองแล้วสมเหตุสมผลและไม่สูงเลย

           มุมของ ก.ล.ต. เองก็คิดอีกแนวทาง เช่น  หานักวิเคราะห์อาสา ซึ่งเป็นแนวที่น่าจะใช้ต้นทุนต่ำจากทีมงานอาสาสมัคร  ซึ่งมุมนี้ผมเองมีความกังวลใจว่า ยากที่จะหาบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงที่จะรับงานลักษณะอาสาสมัครเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องที่ยาวนาน ซึ่งถ้าอาสามาได้ 5-6 เดือน ก็ถือว่าสั้นไปแล้ว  การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทีมงานบ่อยๆ ทุกปี จะเป็นอุปสรรคต่อการผลิตงานวิเคราะห์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตก็จะสะดุดได้

         ทางสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เองก็เริ่มถูกทางสมาคม บล. ทาบทามให้เข้ารับทำบทวิเคราะห์หุ้นเล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งในเบื้องต้น สมาคมนักวิเคราะห์ฯ กำหนดหลักการใหญ่ๆ ที่จะพิจารณาต่อไป  ได้แก่ เรื่องกรอบของงานจะกว้างลึกขนาดไหนอยู่ในระดับที่สมาคมฯ จะนำไปดำเนินการได้จริงหรือไม่  ใครจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณโครงการนี้ ซึ่งต้องเป็นงบประมาณที่แน่นอนและยาวพอคือ 5 ปี  รวมทั้งโครงการนี้ต้องไม่เกิดผลกระทบทางลบต่ออนาคตของนักวิเคราะห์ ฯลฯ

          แม้ทุกวันนี้จะมีประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันอยู่หลายเรื่องเกี่ยวกับเรื่องบทวิเคราะห์ตามที่กล่าวข้างต้น  แต่ก็ถือได้ว่ามีพัฒนาการในทางที่ดีที่จะผลักดันให้มีบทวิเคราะห์คุณภาพและปริมาณมากขึ้น   ถือเป็นข่าวที่ดีของบรรดาประชาชนผู้ย้ายเงินออมมาเสี่ยงในตลาดหุ้น

พบกันใหม่เดือนหน้าครับ

 

                      -------------------------------------------------------------
Posted by sombat at 7:41 PM in ฟิตเนสการลงทุน

 

[Trackback URL for this entry]

Comment: kitti at Thu, 28 Jun 12:36 PM

คำตอบของคำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณโครงการนี้ ซึ่งต้องเป็นงบประมาณที่แน่นอนและยาวพอคือ 5 ปี รวมทั้งโครงการนี้ต้องไม่เกิดผลกระทบทางลบต่ออนาคตของนักวิเคราะห์
นั้น ทางสมาคมนักวิเคราะห์ฯ และทางสมาคม บล.อาจให้ทุก บล. ลงเงินเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาบทวิเคราะห์หุ้นไทย วัตถุประสงค์เพื่อให้มีข้อมูลและบทวิเคราะห์หุ้นของหุ้นทุกตัวที่มีอยู่ในตลาดหุ้นไทย

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« June »
SunMonTueWedThuFriSat
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930