Monday, 19 March 2012

บ่นไปไร้ค่า...หาวิธีรับเงินเฟ้อดีกว่า

« มังกรเลี้ยวลด ปลดปล่อยและท้าทาย | Main | ภาระหรือพารุก »

ตอนนี้ทั่วทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทย  กำลังพูดถึงแต่เรื่องราคาสินค้าแพงขึ้น  ราคาน้ำมันขึ้น ค่าบริการรถโดยสาร แท๊กซี่ขอปรับราคา ฯลฯ 

 

นอกจากนั้น ตั้งแต่เดือน เม.ย.55 ที่ปฏิบัติการยกค่าแรงขั้นต่ำขึ้นร่วม 40%จะเริ่มมีผล  นักวิเคราะห์และนักธุรกิจคาดหมายกันว่า คงมีผลต่อต้นทุนผลิตสินค้าอีกพอสมควร 2-6% ตามแต่ประเภทสินค้าว่ามีโครงสร้างต้นทุนมาจากค่าจ้างแรงงานมากน้อยแค่ไหน

 

โครงสร้างดัชนีราคาผู้บริโภค

ตัวเลขเงินเฟ้อหรือการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุด (ก.พ.55)  แสดงค่าว่ามีเงินเฟ้อ 3.35% เล่นเอาหลายๆ คนบ่นอุบว่าทำไมน้อยกว่าที่ตัวเองเจออยู่ในชีวิตจริง

เรื่องนี้ต้องพยายามนึกเอาเสียว่า ที่มาของสัดส่วนสินค้าและบริการที่ทางกระทรวงพาณิชย์คิดคำนวณ คงมาจากค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ

เราอาจมีชีวิตต่างจากคนโดยเฉลี่ยละมั้ง บังเอิญสินค้าและบริการที่เราใช้อยู่ดันแพงขึ้นมาโดยเฉพาะกับเราครับ

ลองมาดูโครงสร้างน้ำหนักของสินค้าและบริการในดัชนีเงินเฟ้อว่ามีอะไรบ้างนะครับ

1.            หมวดอาหารและเครื่องดื่ม  33.01%

มากสุดคือ อาหารสำเร็จรูป 14.45% รองลงมาคือ บรรดาเนื้อสัตว์ 5.73%  ถัดไปก็ผักและผลไม้ 3.90% ฯลฯ

2.            หมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม  66.99%

แยกออกเป็นหมวดย่อยอีก คือ

2.1    พาหนะ ขนส่งและสื่อสาร  26.80%

ประมาณครึ่งนึงคือ ค่าน้ำมันและยานพาหนะ นอกนั้นก็ค่าโดยสารสาธารณะ 5% แล้วก็ค่าสื่อสารอีก  4%

2.2    เคหสถาน 23.48%

หลักๆ คือ ค่าเช่าบ้าน 15% นอกจากนั้นก็ได้แก่ ไฟฟ้าและประปาประมาณ   5%

                        2.3 อื่นๆ อีก 4 หมวด รวมกัน 16.71% เช่น ค่าตรวจรักษา บันเทิง การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม  สุรายาสูบ

 

            หมวดที่ราคาขึ้นมากๆ เทียบกับปีก่อน (ม.ค.54) ก็คือ อาหารและเครื่องดื่ม 7.2% แต่ในช่วงรายเดือนจาก ม.ค.มา ก.พ.ก็เริ่มชะลอแล้ว

            หมวดที่เหลืออื่นๆ เทียบกับกับ ม.ค. ปีก่อนก็ขึ้นไม่มากนัก แต่ถ้าดูรายเดือนล่าสุด หมวดขนส่งและพาหนะก็เริ่มวิ่งเร็วขึ้น  น่าจะเป็นไปตามราคาน้ำมัน

 

แนวโน้มเงินเฟ้อจะขึ้นเร็วขึ้น

            ช่วง ต้นปีมานี้บรรดาราคาพลังงานเป็นตัวนำที่หิ้วดัชนีราคาขึ้นและคงขึ้นต่อไปอีก โดยบรรดาค่าขนส่งพาหนะที่หักค่าสื่อสารออกก็มีน้ำหนักถึง 22.32% กำลังมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเสี่ยงที่หากเกิดเหตุตื่นเต้นกับอิหร่านขึ้น ราคาพลังงานก็พร้อมจะโดดขึ้นไปได้อีก 5-10%

            ถัดจากราคาพลังงาน ก็คงต้องพูดถึงผลส่งต่อของค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นใน เม.ย.55 โดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนคงถูกผลักขึ้นไป 2-6% ตามแต่ประเภทสินค้า 

นอกจากนั้นผลทางอ้อมจากการที่คนจำนวนมากมีรายได้สูงขึ้นมากจากค่าแรง รวมไปถึงผลักเงินเดือนปริญญาตรีขึ้นไปด้วย  น่าจะส่งผลไปถึงหมวดอาหาร โดยเฉพาะการบริโภคที่อิ่มเอิบขึ้น บรรดาเนื้อสัตว์ต่างๆ คงได้ขึ้นราคาตามปริมาณการบริโภคอีกรอบ

            ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของปีนั้น มีการปรับขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ใกล้ 4% แล้ว

 

วิธีเตรียมรับเงินเฟ้อ

            ผมคิดว่า เงินเฟ้อมาแน่ตามต้นทุนผลักเป็นส่วนใหญ่  และตามความต้องการบริโภคเป็นส่วนเสริม  การประคับประคองผ่อนปรนให้ราคาขยับรับความเป็นจริงแบบไม่พรวดพราดน่าจะดีกว่าคิดฝืนกระแส

            ลองมาดูว่า  แต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ควรจะมีวิธีต้อนรับเงินเฟ้ออย่างไรดี

1.                                    รัฐบาล ผ่อนปรนอยู่ตรงกลางไม่ขวางสุดลิ่มไม่ให้ขึ้นราคา    แต่ก็ไม่ปล่อยให้ขึ้นเสรี 100% นอก จากนั้นก็ไม่ควรโอนผลักภาระไปให้กลุ่มอื่นแทน ยกตัวอย่างเช่น ช่วยคนใช้ดีเซล โดยโอนภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนไปให้กลุ่มใช้เบนซินจ่ายแทน  ซึ่งกลุ่มใช้เบนซิน ก็โดนภาระสินค้าขึ้นราคาแทบแย่อยู่แล้ว

 

2.            ผู้ขายสินค้า ที่จริงจะมีผลกระทบที่ต่างกันฟ้ากับเหวระหว่าง

กลุ่มแรกได้ประโยชน์จากการที่คนไทยหลายล้านคนมีรายได้พุ่งพรวดขึ้นด้วยค่าแรงขั้นต่ำ และปรับเงินเดือนปริญญาตรี  โดยเฉพาะถ้าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเน้นขายในประเทศ แล้วก็ไม่มีต้นทุนค่าแรงมากนัก

กลุ่ม แรกที่ส้มหล่นนี้ น่าจะอยู่ในธุรกิจอาหาร ค้าปลีก ไปจนถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ราคาถูก ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มนี้ไม่มีภาระที่น่าห่วงอะไร

กลุ่ม ที่ 2 ที่โชคร้ายหน่อย คงเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานหรือค่าขนส่งมาก ก็คงต้องหาทางลดต้นทุนแบบที่ไม่กระทบคุณภาพ หวังว่าคงไม่เผลอไปลดคุณภาพเพื่อลดต้นทุน เพราะนั่นอาจเป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจตายสนิทจริงๆ ก็ได้

นอกจากนั้น คงต้องหาทางปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน  บางธุรกิจเช่นผู้ผลิตเสื้อผ้าอาจต้องย้ายฐานผลิตไปประเทศข้างๆ

แต่ท้ายที่สุด ก็คงมีการทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นไป 2-6% ซึ่งผมคิดว่าพอเข้าใจกันได้  แต่ไม่ควรปรับกระตุกพรวดเกินต้นทุน โดยอ้างว่าจะได้ไม่ต้องปรับบ่อยๆ  อันนี้ผมว่าคนซื้อยอมให้ปรับขึ้นหลายครั้งทีละน้อยดีกว่าขึ้นพรวดไปก่อนเลยนะครับ

 

3.            บรรดาลูกจ้าง

ผล จากเงินเฟ้อสูง คงทำให้บรรดาลูกจ้างทั้งหลายมีต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้นแน่นอน แต่ก็มีบางกลุ่มที่ได้ขึ้นค่าจ้าง หรือเงินเดือนพุ่งกระตุกขึ้นไปเร็วกว่าเงินเฟ้อ

อาจมีผลกระทบที่นายจ้างต้องคิดหนักเวลาจ้างใครต่อ  หรือจ้างใครใหม่เพราะต้นทุนสูงขึ้นเยอะ   แน่นอนว่าความคาดหวังที่มีต่อลูกจ้างก็มากขึ้นด้วย  งานนี้คงต้องต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน  และลูกจ้างต้องปรับตัวเพิ่มความสามารถให้คุ้มค่ากับค่าตัวด้วย  เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้อยู่ในจอเรดาร์ของกลุ่มที่นายจ้างอยากปลดออก เพื่อลดต้นทุน

 

4.            ผู้ซื้อสินค้า  แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่ม แรก กลุ่มส้มหล่นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนป.ตรี แม้จะสบายขึ้นแบบกระทันหัน แต่ควรจะฝึกยับยั้งชั่งใจไม่รีบใช้จ่ายเพิ่ม  การกระตุกพรวดเดียวที่ว่านั้น ถ้าจำไม่ผิด ค่าจ้าง 300 คงต้องแช่นิ่งในปีต่อไป   ขณะที่เงินเดือนป.ตรีปีต่อไปคงขยับน้อยแล้ว

แต่ทางด้านของราคาสินค้าที่ถูกกระตุกตามหลังมา บางทีมันมีช่วงล่าช้าตามมาช้ากว่า  ถ้าไม่เผื่อฝึกคุมเงินใช้จ่ายให้ดี  หรือรีบไปมีหนี้มาบริโภค เช่น ป.ตรี  รีบไปดาวน์รถรับมาตรการภาษีรถคันแรก  อาจจะเกิดปัญหาได้ในปีต่อๆ ไปนะครับ

กลุ่มผู้ซื้อที่สองที่ไม่ส้มหล่นแต่กลายเป็นคานโฮปเวลล์หล่นมาทับ  เพราะไม่ได้ปรับเงินเดือนทันเงินเฟ้อ แน่นอนว่า สูตรรัดเข็มขัดสัก 2% น่าจะเพียงพอ  เพราะผมประเมินดูว่า ถ้าต้นปีที่ผ่านมา เราได้ปรับขึ้นเงินเดือนมาสัก 3-4%  แล้วปีนี้เงินเฟ้อเกิดขยับไป 5% ช่วงรายเดือนก่อนถึงการปรับเงินเดือนรอบนี้ ก็ถือว่าขาดทุน แต่เฉลี่ยแล้วก็แค่ 1-2% ดูแล้วก็น่าจะปรับตัวได้  โดยลดการบริโภคลงมา 2% ก็น่าจะเอาอยู่ ไม่ถึงขั้นเดือดร้อนมาก

                   นอกจากนั้น คงต้องมีการกะจังหวะและจำนวนของที่จะซื้อครั้งละหลายชิ้นจากห้างร้านที่ราคาถูก  ซึ่งต้องคำนวณค่าน้ำมันและค่าสึกหรอรถยนต์ให้ดีด้วยครับ  คร่าวๆ ก็กิโลเมตรละ 5 บาทเฉพาะค่าน้ำมัน ถ้ารวมค่าสึกหรออื่นๆ ก็คงรวมเป็นกิโลเมตรละ 8-10 บาท แล้วแต่ขนาดรถ

 

5.            ผู้กู้เงินธนาคาร

ถือซะว่าโชคดีในยามโชคร้าย เพราะที่ผ่านมากระแสรอบด้านอยากเห็นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ถูกเข้าไว้   ประจวบ เหมาะกับประเทศยักษ์ใหญ่ก็กดดอกเบี้ยเตี้ยยิ่งกว่าเรา ผสมกับการอัดฉีดปริมาณเงินจากประเทศยักษ์ใหญ่ ทำให้กระแสเงินไหลเข้ามาบ้านเราก็เยอะ ช่วยให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อ

ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารจึงไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม หากเลยจากนี้ไปถึงกลางปี 55  เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่านี้ ผู้กู้ทั้งหลายก็คงต้องจับตาให้ดีว่าดอกเบี้ยครึ่งปีหลังจะสูงขึ้นหรือไม่  ทางที่ดีถ้ามีโอกาส Refinance ในดอกเบี้ยที่ถูกได้ในช่วงนี้ก็น่าจะเป็นจังหวะดี

สำหรับผู้กู้ซื้อบ้าน โปรดอย่าลืมวิ่งหาข้อมูลดอกเบี้ย Refinance บ้านจากธนาคารอื่นๆ ด้วยครับ โดยเฉพาะท่านที่กู้มาหลายปีแล้ว ดอกเบี้ยเดิมมักจะสูง  การได้ลดดอกเบี้ยสัก 2-3% ใน 3 ปีแรก อย่างที่ธนาคารเสนอให้ลูกค้าใหม่  ก็จะช่วยประหยัดไปได้เยอะครับ

ทุกๆ 1 ล้านบาท ถ้าลดไป 2-3% ก็หมายถึง ประหยัด 2-3 หมื่นบาทแล้ว

 

6.            นักลงทุน/ผู้ออมเงิน

ปัจจุบันด้วยเงินเฟ้อ 3.3% ที่กำลังจะกลายเป็น 4-5% นั้น ทำให้การฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ ทำให้สุทธิแล้วผู้ฝากขาดทุน  และอย่าลืมว่ายังมีภาษีหักณ ที่จ่ายที่รัฐบาลเก็บจากดอกเบี้ยเงินฝากด้วยนะครับ

ถ้ามีเงินออมไม่เยอะก็คงไม่ต้องปวดหัวหาช่องทางฝากออมที่คุ้มค่า

แต่ถ้ามีเหลือเป็นแสนบาทไม่รวมเงินที่ต้องกันไว้ใช้ในระหว่างเดือน  การปวดหัวมาคิดหาที่ฝากที่ลงทุนที่คุ้มค่าก็เริ่มจำเป็นครับ

พูดถึงออมทรัพย์ก่อน ปัจจุบันเป็นเงินฝากสุดฮิต เพราะถอนสะดวก แต่ส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยแค่ไม่เกิน 0.75%

อย่างไรก็ตาม ถ้าสะดวกเดินผ่านธนาคารบางแห่งบ่อยๆ ลองชะโงกดู บางธนาคารอาจจ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์ขึ้นไปเป็น 1% กว่า  ถ้าอาจจ่ายกว่า 2% โดยมีเงื่อนไขให้ถอนได้เดือนละ 2-3 ครั้ง เป็นต้น  ซึ่งผมคิดว่าถ้าวางแผนดีๆ ก็ไม่ควรถอนกะปริดกระปรอยทุกๆ 5-6 วันอยู่แล้ว  ถ้าสะดวกก็ช่วยให้ขาดทุนจากเงินเฟ้อน้อยลง

กองทุนตราสารหนี้ของบรรดา บลจ.ต่างๆ ที่ขายสะดวกอยู่ตามสาขาธนาคารด้วย ก็เป็นอีกทางเลือกของคนอยากได้ดอกผลมากขึ้นในยุคเงินเฟ้อ  ผลตอบแทนจริงอาจขึ้นลงนิดหน่อยตามภาวะดอกเบี้ยและฝีมือผู้จัดการกองทุน   แต่ช่วงนี้ดูเหมือว่าผลตอบแทนจะได้ใกล้ 3% หรือมากกว่าแล้ว

 

การลงทุนในหุ้น

เป็นทางเลือกที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวสูงกว่าทางเลือกอื่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าความไม่แน่นอนมีสูง  ในทุก 10 ปี อาจมีขาดทุน 2-3 ปี  แต่เฉลี่ยมีผลตอบแทนกว่า 10% ต่อปี

สำหรับคนที่หาความรู้จากการลงทุนได้จนพร้อมลงทุนอยู่แล้ว  ปีนี้บรรดาหุ้นธุรกิจได้ส้มหล่นจากการยกค่าแรงและเงินเดือนขึ้น  คือบรรดาธุรกิจที่ฐานตลาดอยู่ในประเทศ เช่น ค้าปลีก อาหาร คอนโดที่ไม่ถูกน้ำท่วมรอบก่อน  ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รวมถึงธนาคารพาณิชย์  คือกลุ่มที่ธุรกิจน่าจะไปได้ดี  (ดูข้อมูลแนะนำรายบริษัทได้ที่ www.saa-thai.org หัวข้อ SAA Consensus)

แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้ทางการลงทุนพอ ขอแนะนำให้ศึกษาหาความรู้จากอบรมสัมมนาไปก่อน  และ สำหรับผู้ที่อยากเรียนลึกการวิเคราะห์แบบมีค่าใช้จ่าย สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เตรียมเปิดอบรม นักวิเคราะห์การลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 สนใจติดตามในเว็บไซต์สมาคมฯ หรือโทร.02-229-2356 ครับ

 สัมมนา ดีๆ จากสมาคมนักวิเคราะห์ฯ (มีค่าสัมมนา) นับชั่วโมงต่อใบอนุญาต เจ้าหน้าที่การตลาด บล., ผู้ขายหน่วยลงทุน, นักวิเคราะห์ และนักบัญชี (หัวข้อ 2) ได้แก่

      1. "รู้ทันกฎระเบียบใหม่และปัญหาในทางปฏิบัติ พร้อมกรณีตัวอย่าง และแนวทางปฏิบัติในการให้คำ แนะนำและส่งต่อบทวิเคราะห์อย่างถูกต้องเสาร์ 24 มี.ค. 55 เวลา 9-14.30 น. โรงแรม แรมแบรนดท์ (ถนนสุขุมวิท ซอย 18)

      2.  "ผลกระทบของการลด อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อบริษัท ที่ใช้ Deferred Tax (ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี)" โดย ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ วันที่ 5 เม.ย. 55 เวลา 13-16.45 น. ณ ตลาดหลักทรัพย์ฯ

ดูรายละเอียดได้ที่ www.saa-thai.org หรือ โทร.02-229-2355-6

 

 

Posted by sombat at 10:35 AM in ฟิตเนสการลงทุน

 

[Trackback URL for this entry]

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« March »
SunMonTueWedThuFriSat
    123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031