Friday, 20 January 2012

มังกรเลี้ยวลด ปลดปล่อยและท้าทาย

« SAA Survey ครั้งที่ 3/2554 | Main | บ่นไปไร้ค่า...หาวิธีรับเงินเฟ้อดีกว่า »

   เพียงแค่เปิดศักราช 55 มาแค่ 3 สัปดาห์  ในปีที่ใครๆ ก็คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัว  ส่วนของไทยแม้จะฟื้นตัวแต่ไม่รุนแรงโดยที่ไตรมาสแรกอาจยังหงอยเหงา  แต่ดูจากเหตุการณ์และกิจกรรมต่างๆใน 2-3 สัปดาห์ กลายเป็นว่าท่าทางปีมังกรนี้ จะปรู๊ดปร๊าด ปราดเปรียว เลี้ยวลดกันชุลมุนนะครับ

                        แค่เฉพาะในโซนที่สมาคมนักวิเคราะห์เกาะติดและสัมผัสก็มากมายราวกับผ่านมานาน 3 เดือนยังไงยังงั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมาย ได้แก่

                     1.            รองนายกพบนักวิเคราะห์เจาะกองทุนฟื้นฟูเริ่มต้นวันทำงานแรกของปี ท่านรองกิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็มีนัดพบกับสมาชิกของสมาคมนักวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ปิดห้องเกือบ 2 ชั่วโมง พูดคุยและตอบข้อซักถามทั้งเรื่อง พรก. 4 ฉบับ ความคืบหน้าโครงการป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วม  และนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ                         ตลอดสัปดาห์แรก จึงมีกระแสข่าวเรื่องแก้ไขปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ และมุมมองจากแบงค์ชาติ แบงค์พาณิชย์ กระทรวงการคลัง นักวิเคราะห์และฝ่ายค้านพูดกันหลายที่ หลายสถานี กระทั่งล่าสุดโครงใหญ่เหมือนจบแล้ว  แต่โครงเล็กเหลือแค่มุมของธนาคารพาณิชย์ ว่าจะต้องลงขันเท่าไรดีที่เหมาะสม                        ตัวเลขที่ชงล่าสุดคือ เพิ่ม 0.15% รวมเป็น 0.55% ของเงินฝาก นักวิเคราะห์เจาะออกมาว่า ถ้าเก็บเพิ่มอีก 0.15% คงกระทบกำไรของธนาคารไปประมาณ 6-7% เท่านั้น                        

                      2. วันชุลมุนเรื่องลิขสิทธิ์บทวิเคราะห์หุ้น                        ช่วงรอยต่อสิ้นปี 54 ปรี่เข้าปี 55 ที่เป็นกำหนดการเปิดเสรีค่านายหน้าพร้อมๆ กับปลดปล่อยข้อบังคับให้ต้องมีนักวิเคราะห์พื้นฐาน 4 คน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ก็ได้ออกจดหมายไปถึงบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง แจ้งให้ทราบว่า ถ้าบริษัทหลักทรัพย์ไหนไปเอาบทวิเคราะห์ของค่ายอื่นมาเผยแพร่หรือดัดแปลงทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทวิเคราะห์นั้น  จะผิดทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์และจรรยาบรรณ                        เท่านั้นแหละครับ บรรดาผู้เกี่ยวข้องก็เกิดอาการชุลมุนปรับตัว  และต่อสายหารือประชุมกันอย่างคึกคักรับปีพญามังกร  คำถามส่วนใหญ่คงต่อสายไปที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ แต่ก็ยังมีนักวิเคราะห์และผู้บริหารสายงานการตลาดหลักทรัพย์ โทรสอบถามผมมาประมาณ 5 บริษัท                       

คำถามและคำตอบสำคัญที่น่าจะสรุปมาถ่ายทอดแก่ผู้อยู่ในวงการลงทุนทราบเพื่อประโยชน์ดังนี้                       

                                   2.1 ถ้าเจ้าหน้าที่การตลาด บล.แห่งหนึ่ง ได้รับบทวิจัยจากเพื่อนบล.อื่นมา 5 สำนัก  ถ้าไม่ได้ส่งต่อทาง E-Mail  แต่เอามาย่อความสำคัญๆ รวมเป็นเนื้อหาสรุปจากสำนักวิจัยต่างๆ มาส่งให้ลูกค้าของตนผิดไหม คำตอบคือ ผิดครับ เพราะเป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัทหลักทรัพย์อื่น                           

                                   2.2 ถ้าเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งได้รับบทวิจัยจากที่อื่น ไม่ได้ไปส่งต่อ  ไม่ได้มาเขียนสรุปใหม่เพื่อส่งต่อ  แต่ไปลงใน Facebook ส่วนตัว  กรณีนี้มีความเห็นว่าผิดแน่นอน เพราะเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์                       

                                   2.3 ทำไมถึงต้องมีการเตือนเรื่องนี้อย่างจริงจังในช่วงนี้ ปีก่อนๆ ก็เห็นปล่อยๆ ไม่ว่าอะไรกัน กรณีนี้ผมเรียนว่า เมื่อก่อนนี้ มีลักษณะช่วยกันสร้างสรรค์งานวิเคราะห์วิจัย  ใครมีกำลังน้อยก็ทำน้อย มีมากก็ทำมาก  และที่สำคัญอัตราค่านายหน้ายังมีขั้นบันไดไม่ห้ำหั่นกันถึงตาย                        แต่วันนี้หั่นได้ไม่มีเพดานล่างตามข้อบังคับ แถมไม่ร่วมด้วยช่วยกันทำบทวิจัย เพื่อนฝูงที่มีภารกิจทำบทวิจัย จึงไม่ยอมแล้ว                       

                               2.4 เจ้าหน้าที่การตลาดกังวลว่า ต่อนี้ไปบทวิจัยเพื่อนๆ บริษัทหลักทรัพย์อื่น คงไหลเล็ดรอดมาได้น้อยลง   เขาเกรงว่าเวลาให้บริการข้อมูลแก่ลูกค้าจะไม่มีข้อมูลกว้างขวางครบถ้วนเท่าเดิม จะทำอย่างไรดี กรณีนี้ผมเห็นว่า เจ้าหน้าที่ก็ต้องแจ้งให้ผู้บริหารทราบว่า  บริษัทต้องทำบทวิจัยเพิ่มขึ้นให้พอสนับสนุนเจ้าหน้าที่การตลาด เพราะถ้าใช้วิธีละเมิดลิขสิทธิ์  แล้วถูกตรวจพบ ใครสักคนต้องผิดรับโทษไป อาจไม่คุ้ม                       

                                     2.5 สำหรับผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ก็คงมีคำถามว่า ถ้าลูกน้องดำเนินการละเมิดลิขสิทธิ์บทวิเคราะห์ของค่ายอื่น  ตัวผู้บริหารจะโดนด้วยหรือไม่ ความเห็นของผมนั้น ผมคิดว่า ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ว่าผู้บริหารส่งเสริมหรือหลิ่วตาให้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า ถ้าชี้แจงแสดงหลักฐานให้เห็นว่า ได้มีประกาศห้ามพนักงานละเมิดลิขสิทธิ์  มีการดำเนินการตรวจตราอยู่ไม่ให้ละเมิดก็พอชี้แจงได้  แต่ถ้าดูแล้วน่าสงสัยว่าหลิ่วตาให้ทำ   งานนี้ก็ต้องไปพิสูจน์กันยาวครับ                        

               3. สหรัฐเตือนก่อการร้ายในไทยเป้าต่างชาติ                         ประเด็นนี้ สร้างความอลหม่านไปหลายวัน  แต่เมื่อเราผ่านเสาร์วันเด็ก และทางการแสดงความเตรียมพร้อมเต็มที่ แถมจับผู้ต้องสงสัยได้  ผมคิดว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุขึ้นได้  ประเด็นนี้จึงมาเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็ผ่านไป                                   

               4. ปรับ ครม. 16 เก้าอี้                        ถือเป็นการปรับใหญ่ประเดิมต้นปี  เป็นการกระชับความลงตัวของการบริหารงานและบริหารคน  ผมเองเห็นด้วยกับการปรับเร็วไม่ต้องรอนาน  ผมเห็นในเกมส์ฟุตบอลระดับโลก ซึ่งมีความยิ่งใหญ่แข่งขันกันสุดชีวิต  การเปลี่ยนตัวเล่นระหว่างเกมส์หรือซื้อตัวนักเตะ  การขายออกเพื่อให้ทีมลงตัวเป็นเรื่องที่ฉับไวและเพิ่มประสิทธิภาพของทีม                        คาดว่าการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจน่าจะไหลลื่นขึ้น                       

                  5. เสรีม๊อบอีกแล้ว                        ผ่านไปไม่กี่วัน มีหลายม๊อบแล้วครับ  ทั้งม๊อบไม่พอคูปอง 2 พันบาทก็ปิดถนนแล้วในหลายๆ พื้นที่   ถัดมาคือ ม๊อบประท้วงขึ้นราคาก๊าซ  ดูแนวโน้มแล้วปีนี้คงมีอีกหลายสิบม๊อบ                       

                  6. ประเด็นจากงานมหกรรมวิเคราะห์หลักทรัพย์                        การจัดงานวันเสาร์อาทิตย์ 14-15 ม.ค.55 ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์และโพสต์ทูเดย์นั้น   แม้จะโฆษณาน้อย (ไม่ค่อยมีงบ) และตรงกับวันเด็กที่ใครหลายคนมีภารกิจที่มิอาจปฎิเสธได้  แต่ที่แปลกใจกันมากคือ ผู้คนล้นหลามคึกคักตั้งแต่เช้ายันเย็น ตลอด 2 วัน                         ห้องประชุมชั้น 3 ที่แทรกแถวยืนและแถวนั่งที่พื้นแล้ว  ต้องขยายวงจรปิดไปโถง ชั้น 1 ลามไปถึงห้องประชุมชั้น 11 นับรวมแล้วมีผู้ฟังทุกช่วงเวลารวมกันเกือบ 4,000 ที่นั่งและที่ยืน  ซึ่งหักค่าเฉลี่ยนั่งซ้ำ 2 หัวข้อ ตัวเลขมั่นใจได้ว่าเกิน 2,000 คน ขณะที่ยอดผู้สนใจซื้อคู่มือผู้ลงทุนเกือบ 1 พันเล่ม เมื่อรวมกับที่บริษัทหลักทรัพย์กับบริษัทจดทะเบียนมาซื้อยกเป็นตั้งไปแจกลูกค้าและเจ้าหน้าที่ของบริษัท  รวมกับบรรดาสปอนเซอร์ ยอดวิ่งขึ้นไปเกือบ 2 พันเล่ม                        ถือเป็นภาพชุลมุนที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดในช่วงที่คิดว่าเศรษฐกิจชะลอ                        ประเด็นสัมมนาจากวิทยากรชั้นนำเกือบ 20 คนนั้น  โพสต์ทูเดย์เขียนลงไปกว่า 10 คนแล้ว  ในส่วนที่ผมร่วมพูดร่วมฟังอยู่  มีประเด็นที่อยากนำมาให้เป็นข้อมูลแก่ผู้อ่านดังนี้ครับ                       

                                     6.1 ดร.อัจนา ไวความดี                          ท่านนี้เป็นอดีต Head of Research อาชีพเดียวกับพวกผมมาก่อน  อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ และที่สำคัญคือ เป็นรองผู้ว่าการ ธปท. ที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่รู้จักกันมาหลายปี                         ดร.อัจนามองว่า  มีปัจจัยที่ต้องจับตามองหลายเรื่องทั่วโลก  คาดว่าจะมีข่าวดีเป็นระลอกๆ แต่ข่าวร้ายก็มาเป็นระลอกๆ เหมือนกัน   โดยเฉพาะยุโรปคงมีเศรษฐกิจถดถอย                        ปัญหาในยุโรปนั้น  คาดว่าเมื่อถึงเวลาจวนตัว จะมีทางออกเสมอ                        ในสหรัฐคงไม่ถอยเรื่องดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์ง่ายๆ จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น                        เงินทุนไหลเข้าไหลออกปีนี้ เป็นไปตามข่าวยูโรโซน เดี๋ยวเจรจาใกล้สำเร็จ เดี๋ยวก็ไม่สำเร็จ                        หลักการลงทุนถ้าคิดว่าอยู่จุดบนสุดของวงจรเศรษฐกิจ  กำลังจะลงให้ซื้อพันธบัตร ถ้าอยู่ช่วงกลางๆ เศรษฐกิจลงมาบ้างแล้ว และจะมีข่าวร้ายอีกให้ซื้อทอง แต่ถ้าคิดว่าเศรษฐกิจแย่สุด กำลังจะขึ้น ให้ซื้อหุ้น                       

                                   6.2 คุณพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ (YLG)                        มีปัจจัยที่ทำให้ทองขึ้นทั้งปัญหายูโรโซน อเมริกา และเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง ลงทุนทองต้องดู Demand กับ Supply ซึ่งพบว่ามี Demand เยอะจากอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่ประเทศจีนกับอินเดียเศรษฐกิจดี ประชากรมากก็เป็นกลุ่ม Demand สำคัญ                        บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกสะสมทองคำเพิ่มขึ้น  เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าตลอดทุกๆ ปี มกราคม ทองคำมักจะต่ำสุดในรอบปี  เดือนต่อๆ มาจะขึ้นไปตลอด                       

                                      6.3 คุณฐิภา นววัฒนทรัพย์ (YLG)                         ปัจจัยสำคัญจับตายุโรป สหรัฐ และตะวันออกกลางซึ่งกระทบราคาน้ำมัน                        ทองปีนี้คงขึ้นๆ ลงๆ แต่ต้องมีใน Port ลงทุน ประมาณ 20% เพราะราคาทองไม่เกาะตามปัจจัยใดๆ เป็นการถาวร เป็นแนวทางกระจายความเสี่ยงและคาดว่าปีนี้ทองให้ผลตอบแทน 10-15%                       

                                      6.4 คุณวันดี กุญชรยาคง (SPCG)                        จากบริษัท SPCG ผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้า กล่าวถึงเรื่องราวของพลังงานในโลกว่ามีทั้งพลังงานที่ใช้สิ้นเปลืองหมดไป เช่น น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน                        ประเภทที่ 2 เป็นพลังงานทดแทน เช่น วัสดุเหลือใช้ทางเกษตร   น้ำจากเขื่อนถัดมาคือพลังงานแสงอาทิตย์ มาผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่ง SPCG เริ่มมา 2 ปีแล้ว  ทำสัญญาขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  34 โครงการรวมกว่า 200 เมกะวัตต์  ซึ่งกำลังทยอยเสร็จ มูลค่าการลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท                         โครงการไฟฟ้าลักษณะนี้ จะลงทุนหนักในครั้งแรก หลังจากนั้นแค่ดูแล พูดเล่นๆ ว่า แค่ขัดๆ ถูๆ ปัดฝุ่นเท่านั้น                        ทั้งหมดเป็นเรื่องราวโดยสรุปที่เกิดขึ้นใน 3 สัปดาห์ ฝากให้เป็นข้อมูลของคุณผู้อ่านครับ

 

 

Posted by sombat at 5:34 PM in ฟิตเนสการลงทุน

 

[Trackback URL for this entry]

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« January »
SunMonTueWedThuFriSat
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031