Friday, 19 March 2021
บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) (HTC)
« บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) ( DDD ) | Main | บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) »บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร
บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) (HTC)
ชื่อ: พลตรีพัชร รัตตกุล
ตำแหน่ง: ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
‘หาดทิพย์’ พร้อมขยายสู่ธุรกิจประเภทอื่น ต่อยอดความสำเร็จผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบนหลักการ ‘Sustainable but Profitable Growth’
เป็นเวลากว่า 52 ปี ที่บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยยึดมั่นการสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ ความมุ่งมั่นนี้ได้แสดงผลสัมฤทธิ์จากการที่บริษัทฯได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2563)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2512 ก่อนที่จะมาเป็นหาดทิพย์ในวันนี้ บริษัทฯได้ถูกก่อตั้งในนาม บริษัท นครทิพย์ จำกัด โดยได้รับลิขสิทธิ์การผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอัดลมภายใต้เครื่องหมายการค้าของ “โคคา-โคลา” ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ต่อมาในปี 2517 บริษัท ไทยธนา จำกัด ได้เข้ามาบริหารและมีการเพิ่มทุน ในที่สุด บจก.นครทิพย์ และ บจก.ไทยธนา ได้ตกลงร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เป็น บริษัท หาดทิพย์ จำกัด ในปี 2521 พร้อมกับได้สิทธิในการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของโคคา-โคลา เพิ่มเติมอีก 11 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 14 จังหวัดในภาคใต้ ต่อมา บริษัทฯได้จดทะเบียนและซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531
นอกจาก “โคคา-โคลา” แล้ว หาดทิพย์ยังเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “แฟนต้า” "สไปรท์" และผลิตภัณฑ์อื่นที่ โคคา-โคลา คัมปะนี เป็นเจ้าของ ซึ่งมีทั้งเครื่องดื่มอัดลม (Carbonated Soft Drinks) และเครื่องดื่มไม่อัดลม (Non-Carbonated Drinks; Still Beverages) เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้มินิทเมด และน้ำดื่มน้ำทิพย์ เป็นต้น ซึ่งกว่า 90% ของรายได้รวมของบริษัทมาจากการจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลม
หาดทิพย์มีโรงงานผลิต 2 แห่ง โดยโรงงานที่ 1 ตั้งอยู่ที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และโรงงานที่ 2 ตั้งอยู่ที่ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีขอบเขตการจัดจำหน่ายสินค้าเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง กระบี่ ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ในช่วงที่ผ่านมา หาดทิพย์ได้มีการขยายธุรกิจและจัดตั้งบริษัทย่อยทั้งสิ้น 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท เซ้าเทิร์น ร็อคส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายขวดพลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและขวดพลาสติกสำเร็จรูป รวมถึงรับจ้างเป่าขวดพลาสติก บริษัท หาดทิพย์ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจเจส จำกัด และบริษัท กินดีอยู่ดี 2020 จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยบจก. กินดีอยู่ดี 2020 เป็นการร่วมทุนกับเซ็นกรุ๊ป ในการทำร้านอาหาร “เขียง” บริษัท หาดทิพย์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ประกอบธุรกิจ
กระจายสินค้าอุปโภคบริโภค และล่าสุดคือ บริษัท หาดทิพย์ ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด ซึ่งจัดตั้งเพื่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากบริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการใช้ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ และโอกาสจากการย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ไปยังจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัย
“การ Diversification ของธุรกิจเราไปทางด้าน Food, FMCG และ Property นั้น ผมเชื่อว่ามี Resistance ต่อ Disaster ต่างๆที่จะเกิดขึ้นพอสมควร เพราะการกิน การอยู่ ยังจำเป็นสำหรับมนุษย์” พลตรีพัชร กล่าว

ยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่ Total Beverage Company
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด 19 ทั้งในและนอกประเทศที่ยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ทำให้ปี 2564 มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นอีกปีที่จะเห็นภาคการท่องเที่ยวเผชิญภาวะซบเซาอย่างรุนแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า และยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งในด้านยอดขาย สภาพคล่อง ที่ต้องบริหารจัดการเพื่อวางแผนรับมือความเสี่ยงทางธุรกิจในด้านต่างๆ
เมื่อภาวะเศรษฐกิจซบเซามีแนวโน้มลากยาว หาดทิพย์จะมุ่งเน้นแผนธุรกิจแบบ “Slow But Sure” ในแง่การขยายธุรกิจ อาทิ การขยายธุรกิจร้านอาหาร คงจะเป็นการศึกษาและเจรจาหาแบรนด์สินค้าใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติม แต่อาจจะยังไม่มีการเปิดตัวในปีนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจเองยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น
สำหรับการขยายธุรกิจในแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เขียง ทาโรโตะ หรือมิส มาม่อน ก็ดำเนินไปอย่างระมัดระวัง จึงทำให้การขยายสาขาล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้เมื่อสองปีที่แล้ว แต่หากเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด อาทิ นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาในไตรมาสสี่ วัคซีนเริ่มมีการกระจายไปในวงกว้างและได้ผลพอสมควร แน่นอนว่าทางหาดทิพย์มีความพร้อมที่จะลงทุนทันทีที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ในมุมมองพลตรีพัชร Agility หรือความคล่องตัว คือ Keyword สำหรับการบริหารธุรกิจทั้งในปีที่แล้วและปีนี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเน้นการบริโภคภายในประเทศ (local consumption) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาโดยตลอด ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติถือว่าเป็น “Cream on Top” “สิ่งที่ผมดีใจก็คือ การที่เราเน้นย้ำการบริโภคภายในประเทศ เมื่อมีเหตุการณ์ Pandemic เกิดขึ้น เราก็ยังสามารถสร้างการเติบโตให้กับความต้องการภายในประเทศ (local demand) ได้ สิ่งนี้ทำให้ธุรกิจของเรายังอยู่ได้ และมีผลกระทบทางธุรกิจน้อยกว่าที่เราคาดไว้” พลตรีพัชร กล่าว
การบริโภคในประเทศยังคงเป็นฐานลูกค้าที่หาดทิพย์ปักธงไว้สำหรับการขยายธุรกิจร้านอาหารเช่นกันในตอนนี้ โดยพื้นที่ในการขยายธุรกิจจะไม่จำกัดแต่เพียงภาคใต้เหมือนธุรกิจเครื่องดื่ม ที่บริษัทฯ สามารถจัดจำหน่ายเฉพาะเขตพื้นที่ที่ได้รับลิขสิทธิ์จากโคคา–โคลา คัมปะนี เท่านั้น ดังนั้น “ถ้ามี Traffic และ Spending Power ที่ไหน เราจะไปที่นั่น กรุงเทพฯ จึงเป็นหนึ่งในตลาดที่เรามองอยู่สำหรับธุรกิจร้านอาหาร” พลตรีพัชร กล่าว
สำหรับแผน 5 ปีข้างหน้า พลตรีพัชร กล่าวว่า หาดทิพย์จะเน้นหลักการ “Sustainable but Profitable Growth” โดยมุ่งมั่นที่จะใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรจากธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และเงินทุน เป็นต้น บริษัทฯ มองว่าการเพิ่มการใช้พลังงานธรรมชาติในกระบวนการผลิต การขนส่งและด้านอื่นๆ คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และช่วยลดต้นทุนไปในตัวด้วย โดยหาดทิพย์มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีด้านพลังงานธรรมชาติ เช่น โซล่าเซลล์ มาประยุกต์ใช้ในโรงงานที่หาดใหญ่ เพิ่มเติมจากการใช้แหล่งพลังงานนี้อยู่แล้วที่โรงงานพุนพิน รวมถึงแผนการทำโซล่าฟาร์มที่โรงงานพุนพิน ส่วนเทคโนโลยีด้านกระจายสินค้า หาดทิพย์ได้นำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และ Automation Software ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ supply chain เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและมีการจัดกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสม (segmentation) เพื่อต่อยอดการทำกำไรและบริหารต้นทุนขององค์กร
หาดทิพย์มองถึงการขยายธุรกิจเครื่องดื่มไปสู่ประเภทอื่นในหมวดหมู่เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ (non-alcoholic ready to drink) นอกเหนือจากประเภทสินค้าที่มีอยู่แล้ว “มีอีกหลาย Category ที่เรายังไม่มี Presence เลย และ Category พวกนี้มีกำไรมาก ไม่ว่าจะเป็น นมถั่วเหลือง Energy Drinks ชา หรือกาแฟ เรามองว่าท้ายที่สุดภายใต้ Umbrella ของ Coca Cola Products เราต้องการที่จะเป็น Total Beverage Company” พลตรีพัชร กล่าว ด้านการเติบโตของธุรกิจส่วนอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจเครื่องดื่ม หาดทิพย์วางแผนที่จะขยายธุรกิจเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นโดยไม่จำกัดว่าจะต้องขยายธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้ที่เดียว แต่จะครอบคลุมไปทั้งประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย “ท้ายที่สุดเราต้องมีความรับผิดชอบต่อ Stakeholders ทุกคน ตั้งแต่ พนักงาน คู่ค้า ผู้ถือหุ้นและชุมชน”
การบริหารความเสี่ยง และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยความเสี่ยงทางธุรกิจ คือ เหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอนซึ่งหากเกิดขึ้นจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายขององค์กร หาดทิพย์ได้มีการระบุและประเมินความเสี่ยงหลักๆ ของธุรกิจ พร้อมทั้งวางแผน และดำเนินการ เพื่อที่จะทำให้ความเสี่ยงเหล่านี้มีผลกระทบต่อบริษัทฯน้อยที่สุดหรือในวงจำกัด
ความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายของภาครัฐในด้านภาษี รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บและเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม โดยจะเรียกเก็บจากระดับค่าความหวาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทฯอย่างมีนัยสำคัญ “เราได้มีการปรับสูตรสินค้ามาเกือบสองปีแล้วโดยการใช้น้ำตาลให้น้อยลง แต่พยายามคงรสชาติไว้ให้เหมือนเดิมเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่อความคุ้นชินของผู้บริโภคที่มีมาหลายทศวรรษ และยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้” พลตรีพัชร กล่าว
ความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นในภาคใต้ โดยมีระดับความรุนแรงต่างกันในแต่ละปี เช่น วาตภัย อุทกภัย เหตุการณ์ดินถล่มในพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของชุมชน และส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้ หาดทิพย์มีประสบการณ์พอสมควรในการบริหารจัดการภายในเพื่อป้องกันธุรกิจให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การช่วยเหลือชุมชุนที่ได้รับผลกระทบก็เป็นสิ่งที่บริษัทฯให้ความสำคัญและทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ตามแนวคิดของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในภาคใต้ การช่วยสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นแม้แต่เพียงเล็กน้อย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่พนักงานของหาดทิพย์เอง
ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับชุมชม รวมถึงชุมชนชาวมุสลิม และการกำหนดมาตรการและขั้นตอนการทำงานในพื้นที่เสี่ยง ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทฯ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และความว่องไวในการปรับตัว (Agility) เองยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบริหารความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสเอง สภาวะแวดล้อมการทำธุรกิจและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ในอีกมุมหนึ่ง หาดทิพย์มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างผลประกอบการที่ดี บริษัทมีความตระหนักถึงผลกระทบอย่างรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่มีต่อโลกในปัจจุบัน จึงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิต
บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วทั้งหมดของหาดทิพย์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลมาแล้วโดยเฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์ บรรจุภัณฑ์ประเภท PET หรือพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน และสำหรับบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องนั้นทำจากอะลูมิเนียมที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และผลิตจากอะลูมิเนียมที่ได้ผ่านการรีไซเคิลมาแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
สำหรับใน 2563 หาดทิพย์ ได้รับประกาศนียบัตร คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กร ทั้ง 2 โรงงาน คือ โรงงานหาดใหญ่ (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10,076 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี) และโรงงานพุนพิน (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10,839 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี)
“ปรัชญาในการทำงานของหาดทิพย์ เป็นการผสมผสานระหว่างการบริหารแบบตะวันออกและตะวันตก” พลตรีพัชร กล่าว ในส่วนการบริหารแบบตะวันออก ทั้งฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่พนักงานมีความจริงใจ ห่วงใย และเกรงใจซึ่งกันและกัน จึงทำให้เจ้าหน้าที่มีความผูกพันกับบริษัทฯอย่างแนบแน่น ด้านแนวคิดทางตะวันตกนั้น ความก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่พนักงานขึ้นอยู่กับผลงาน และความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่คำนึงถึงวันเวลาทำงานปกติที่บริษัทฯกำหนดไว้
“หาดทิพย์เจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ทุกวันนี้นั้นเป็นเพราะกำลังคนของบริษัท การสนับสนุนจากพนักงานที่มีความสามัคคีกันทุกฝ่าย ต่างอุทิศตนอย่างสุดความสามารถทำให้การดำเนินงานบรรลุจุดหมายที่วางไว้” พลตรีพัชร กล่าว
บทสัมภาษณ์ผู้บริหารชุดนี้จัดทำโดยบริษัท ShareInvestor ผู้ให้บริการด้านสื่อการเงินออนไลน์ เทคโนโลยี และเครือข่ายนักลงทุนสัมพันธ์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่ admin.th@shareinvestor.com
เว็บไซต์: www.ShareInvestorThailand.com
[Trackback URL for this entry]