Wednesday, 1 June 2022

ส่องปัจจัย กระทบต่อค่าเงิน

« Stock Futures เครื่องมือลงทุนและบริหารความเสี่ยงในหุ้น | Main | เว็บไซต์ SET และ Settrade โฉมใหม่ ตัวช่วยการลงทุนยุคดิจิทัล »

กรุงเทพธุรกิจ : Future World
รินใจ ชาครพิพัฒน์
กรรมการผู้จัดการ บมจ. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)

ส่องปัจจัย กระทบต่อค่าเงิน

       ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีความผันผวนสูงมากขึ้น โดยค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาจากระดับประมาณ 32.20 บาทต่อดอลลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออ่อนค่าลงกว่า 7% ในช่วงเวลาเพียงประมาณ 4 เดือน ซึ่งในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านนำเข้าและส่งออกนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมีผลกระทบต่อต้นทุนของสินค้าหรือราคาขายของสินค้าอย่างมาก ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับตัว และควรต้องศึกษาแนวทางในการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้

       ถ้าหากจะถามว่าค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยอะไร คำตอบคือมีหลายปัจจัย แต่หากจะพิจารณาแบบง่ายๆ ก็อาจมองเงินแต่ละสกุลเสมือนเป็นสินทรัพย์หรือสินค้าชนิดหนึ่ง ดังนั้น ค่าเงินแต่ละสกุลจะขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานดังเช่นสินค้าทั่วๆ ไป ในฝั่งของอุปสงค์นั้นก็คือความต้องการเงินบาท ถ้ามีความต้องการมากขึ้นค่าเงินบาทก็จะแข็งขึ้น ถ้าต้องการน้อยค่าเงินบาทก็อ่อนตัวลง ซึ่งความต้องการนี้อาจมาจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการค้าหรือการบริการของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนรวมราว 70% ของ GDP ไทย (สถิติก่อนโควิด-19) ดังนั้น ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ความต้องการเงินบาทลดลงจากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวสะท้อนผลตอบแทนจากการลงทุน ดังนั้น เงินทุนจึงมักจะย้ายจากประเทศที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำไปสู่ประเทศที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง เช่น การที่ประเทศญี่ปุ่นตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ (-0.1%) ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนและส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์เยนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

       สำหรับในด้านอุปทานหรือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐซึ่งเป็นผู้ใช้กลไกต่างๆ ในการกำหนดปริมาณเงินในระบบ เช่น การกำหนด Reserve Requirement Ratio (RRR) หรือระดับสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกันไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ซึ่งระดับ RRR จะส่งผลต่อปริมาณเงินที่สามารถนำไปปล่อยกู้ได้ เช่น กรณีที่ RRR ต่ำลง ธนาคารจะมีเงินเหลือมากขึ้นและสามารถนำไปปล่อยกู้ได้มากขึ้น เงินในระบบก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ค่าของเงินประเทศนั้นๆ ลดลงได้ ตัวอย่างเช่น การปรับลด RRR ของธนาคารกลางจีนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารมีสภาพคล่องสูงขึ้น และมีเงินเหลือไปปล่อยกู้เพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงนั่นเอง

       ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของภาคธุรกิจ แต่กลับมีผลต่อต้นทุน รายได้ และผลกำไรของผู้ประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยสำหรับผู้นำเข้า ค่าเงินที่อ่อนลงก็ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น หากราคาสินค้าไม่เปลี่ยนแปลง ก็ทำให้กำไรลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ส่งออก ค่าเงินที่อ่อนลงอาจเป็นผลดี เพราะทำให้ราคาสินค้าในสายตาของต่างชาติถูกลง และผู้ส่งออกก็ได้รายได้มากขึ้นเมื่อแปลงค่าเงินต่างประเทศกลับมาเป็นเงินไทย นอกจากนี้ ค่าเงินยังมีผลต่อผู้ลงทุนที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งในปัจจุบันผู้ลงทุนไทยก็มีการไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศหรือทางอ้อมที่ผ่านผู้ลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนต่างๆ ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศเมื่อแปลงเป็นเงินบาทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็ส่งผลให้กำไรเมื่อแปลงเป็นค่าเงินบาทลดลงได้

       ด้วยการที่ค่าเงินอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจและการลงทุนได้นั้น ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งในส่วนนี้ อาจเลือกใช้เครื่องมือที่เป็น FX Forward กับธนาคารพาณิชย์ หรือใช้ USD Futures ในตลาด TFEX เพื่อล็อคอัตราแลกเปลี่ยนและจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ดี เครื่องมือแต่ละประเภทก็มีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินและทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะใช้บริการ FX Forward ได้สะดวก หากแต่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กตลอดจนผู้ลงทุนทั่วไปก็อาจเข้าถึงบริการ FX Forward ได้ยากกว่า ดังนั้น อาจพิจารณาใช้ USD Futures แทน เพราะไม่จำเป็นต้องมีวงเงินหรือความสัมพันธ์กับธนาคารพาณิชย์ ไม่ต้องแสดงเอกสารแสดงว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อีกทั้งสามารถทำธุรกรรมในขนาดเล็ก (1,000 USD ต่อสัญญา หรือประมาณ 34,000 บาท) ได้ และยังสามารถใช้บริการเสริมเพื่อนำสถานะใน USD Futures ไปแลกเป็นเงิน USD จริงที่ธนาคารก่อนที่สัญญาครบกำหนดอายุได้

       โดยสรุปแล้ว ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสามารถบริหารจัดการได้ โดยผู้ใช้ควรเลือกเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตน และที่สำคัญก็คือไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจกลไกของเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง ต้นทุนและข้อจำกัดในการใช้งานด้วย

Posted by rinjai at 11:22 AM in กรุงเทพธุรกิจ

 

[Trackback URL for this entry]

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« June »
SunMonTueWedThuFriSat
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930