Sunday, 4 January 2015

แนวโน้มการลงทุนโลก (Investment Theme) ที่สำคัญในปี 2558

« ปรับพอร์ตรับ “การเปลี่ยนขั้ว QE” ปีแพะ 2558 | Main | จัดพอร์ตลงทุนอย่างมืออาชีพโดยใช้กลยุทธ์ Enhanced Core-Satellite 7 ขั้นตอนด้วยตัวคุณเอง »

สวัสดีปีใหม่ครับ หลังจากที่ได้เขียนบทความเรื่อง “ปรับพอร์ตรับการเปลี่ยนขั้ว QE ปีแพะ 2558 (หาอ่านได้ที่http://fundmanagertalk.com)” ไปในฉบับที่แล้ว วันนี้ผมจะขอเล่าถึงแนวโน้ม และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ต้องติดตามในปี 2558 หรือที่เรียกกันว่า Investment Theme ครับ

การย้ายความมั่งคั่งจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคน้ำมัน

ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงถึงประมาณ 50% ในปี 2557 หากแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ แน่นอนว่าผู้เสียประโยชน์คือผู้ผลิตน้ำมันที่ย่อมมีกำไรน้อยลงอย่างเช่นประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง หรือประเทศรัสเซียที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมาก ๆ ย่อมได้ประโยชน์ เช่นประเทศในเอเชียอย่าง ไทย เกาหลีใต้ อินเดีย ซึ่งผู้เขียนมองว่าอินเดียอยู่ในสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดเพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากการบริโภคน้ำมันที่ราคาถูกลงแล้ว ปัญหาเรื้อรังเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียก็ลดลงด้วยทำให้ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนลดลง หากมองประเด็นในเรื่องของน้ำมันที่มีต่อรายกลุ่มอุตสาหกรรม แน่นอน การที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาก ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มพลังงาน ผู้ผลิตน้ำมัน ผู้ขุดเจาะน้ำมัน โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันที่ต้นทุนสูง นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมัน และราคาโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับตัวลดลงในช่วงนี้ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมวัฏจักร (Cyclical) ที่รายได้อิงกับราคาโภคภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ อย่างกลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มสินแร่ต่าง ๆ ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีมากขึ้นส่งผลบวกต่อกลุ่มค้าปลีก ต้นทุนการผลิตที่ลดลงในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้างก็ย่อมได้รับอานิสงส์เช่นเดียวกัน ดังนั้นท่านนักลงทุนควรจับตาการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดในการลงทุนปีนี้ หากราคาน้ำมันกลับทิศฟื้นตัวขึ้นแรง ๆ แน่นอนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไปก่อนหน้านี้น่าจะฟื้นตัวได้แรงเพราะปรับตัวลดลงไปมากแล้ว ในทางกลับกันหากราคาน้ำมันยังลงแรงต่อไปอีก อาจเกิดความเสียหายต่อบางประเทศที่พึ่งพาน้ำมันมาก ๆ อย่างรัสเซีย หรือบริษัทที่ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนสูงอาจประสบปัญหาทางการเงินได้

ความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของอเมริกา

เป็นที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปัจจุบันตลาดมองว่า FED จะทำการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2558 การขึ้นดอกเบี้ยของอเมริกาขณะที่ดอกเบี้ยยุโรป และญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัจจุบัน FED ได้ให้แนวทางกับนักลงทุนว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.125% ในปัจจุบันเป็น 1.125% ในสิ้นปี 2558 และเพิ่มเป็น 2.5% ณ สิ้นปี 2559 โดย FED คาดว่าจะเริ่มปรับเพิ่มดอกเบี้ยประมาณกลางปี 2558 ผู้เขียนมองว่ายิ่งใกล้กลางปี 2558 เท่าไร ความผันผวนในตลาดการลงทุนทั้งค่าเงิน และตลาดหุ้นก็จะยิ่งมีมากขึ้น หากกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ร้อนแรงกว่าที่คาด หรือเงินเฟ้อเพิ่มสูงกว่าที่คาด อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเพิ่มมากกว่าที่ FED คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้นไปอีก ในอีกกรณี หากเงินเฟ้อยังต่ำต่อเนื่อง และเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว ทาง FED ก็จะทยอยปรับเพิ่มดอกเบี้ยไปอย่างที่คาดการณ์ไว้และตลาดลงทุนก็จะผันผวนไม่มากนัก โดยสรุปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 น่าจะเหมาะกับการจัดพอร์ตแบบสมดุล เช่นการลงทุนใน Balanced fund หรือ Multi-Asset Strategy ยังไม่ควรลงทุนเสี่ยงมากจนเกินไปจนกว่าจะเห็นความชัดเจนในประเด็นเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ว่าจะขึ้นช้าเร็วแค่ไหน

 

Modi-Widodo-Jinping

ปีแห่งการปฏิรูปในเอเชีย

จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี รวมถึงประเทศไทยต่างมีวาระในการปฏิรูปทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่ประเทศจีนที่มีแนวทางในการปรับสมดุลเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการลงทุน มาเป็นการพึ่งพากำลังซื้อของคนในประเทศมากขึ้น รวมถึงการเปิดเสรีเงินหยวนและวางเป้าให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักอีกสกุลหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการขยายตัวของชุมชนเมืองไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ มากขึ้น (Urbanization) ส่วนในประเทศอินเดีย รัฐบาลใหม่ของนายโมดิพยายามที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ขั้นตอนต่าง ๆ ให้เอื้อกับการลงทุนมากขึ้น รวมถึงการปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปแรงงาน ฯลฯ หากการปฏิรูปมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นตัวดึงดูเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่อินเดียอย่างแน่นอน ในประเทศอินโดนีเซีย ประธานธิบดี โจโกวี ก็ทำการปฏิรูปพลังงาน ลดเงินอุดหนุนพลังงานเพื่อเปลี่ยนไปเป็นเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในเกาหลีใต้เองก็มีความพยายามปรับปรุงเรื่องธรรมาภิบาลของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ให้มีการคงเงินในกิจการให้น้อยลง ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มอัตราเงินปันผล หรือแม้กระทั่งการปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยสรุป ความคืบหน้าในเรื่องการปฏิรูปในเอเชียจะเป็นอีกประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจในปี 2558 ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการปฏิรูปของแต่ละประเทศจะส่งผลต่อผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งหมดก็เป็น 3 ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปี 2558 ที่นำมาฝากกันในวันนี้ครับ

Posted by Jessada at 8:40 PM in Investment Talk

 

[Trackback URL for this entry]

Comment: C.Munger at Fri, 9 Jan 10:28 AM

ผมเห็นด้วยอย่างมากกับทุกประเด็นครับ แต่อยากจะเพิ่มเติมในส่วนของเอเชียละกัน ซึ่งอาเซียนก็เป็นส่วนหนึ่ง แลผมก็คิดว่าหลายๆ บร. จดทะเบียนก็รุกหนักมาหลายสิบปีแล้วด้วยซ้ำ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงแห่งการรอคอย การออกดอกออกผลของ ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะรอบๆเพื่อนบ้านเรา

แม้ว่าต้นไม้ที่ปลูกบริเวณนี้อาจจะยังไม่เติบโตออกดอกออกผล แต่ผมเชื่อว่าต้นไม้นี้จะมีผลที่สด อร่อย ลำต้นมั่นคงและแข็งแรง ส่วนอยากเห็น บร. ทั้งหลายใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ที่สุด ถึงแม้กฎระเบียบเพื่อนบ้านเราอาจจะยังไม่ชัดเจน หรือเป็นอุปสรรคอยู่บ้างก็ตาม

ทว่าก็ยังเห็นโอกาสอยู่บ้างเช่นการไปร่วมทุน หรือการเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่ากฎหมายภายในประเทศกำหนดด้วยซ้ำ ส่วนนี้เองผมเห็นว่าเป็นโอกาสและช่องทางในการเพิ่มขนาดธุรกิจให้เติบโตยิ่งๆขึ้นไป

ผมไม่เห็นแนวทางไหนที่ดีไปกว่าสิ่งที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ในการเพิ่มขนาด ศักยภาพ ขีดความสามารถให้กับ บร.ไทย ณ ปัจจุบัน ที่สะท้อนผ่านผลกำไร ผลประกอบการ และเป็นตัวช้ำนำธุรกิจเป็นสำคัญในอนาคต การดำเนินธุรกิจภายในประเทศผมรู้สึกถึงความอิ่มตัวแล้ว

ด้วยสภาพแวดล้อมขนาดนี้ คงไม่มีทางไหนที่จะหลีกเลี่ยงพ้นที่จะต้องเกิดการแข่งขันกันระหว่างธุรกิจ แต่ผมอยากเห็นการแข่งขันกันที่พึ่งพาอาศัยกันเป็น "ทีมอาเซียน" ด้วยกันมากกว่า ไม่ใช่การแข่งขันกันหนักหน่วงระหว่างกัน แต่เป็นการแข่งขันกับภายนอกภูมิภาคมากกว่า

นักลงทุนเองก็น่าจะมองหา บร. สัญชาติไทย หรือในอาเซียนที่แข็งแกร่งไว้ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ทำการบ้านกันไว้ได้เลยครับ เตรียมตัวให้พร้อม สู้ๆๆครับ

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« January »
SunMonTueWedThuFriSat
    123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031