Friday, 7 February 2014

กลยุทธ์การลงทุนรับภาวะการเมืองร้อน เศรษฐกิจโรย ปี 2557

« ปรับพอร์ตรับมือความไม่แน่นอนทางการเมือง | Main | การกลับมาอีกครั้งของกองทุนกิมจิ »

ความท้าทายในปี 2557

 ผ่านไป 1 เดือนของปีม้า 2557 เรียกได้ว่าเป็นอีกปีที่ไม่ธรรดาแน่นอนครับ โดยตลาดการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังถูกปัญหารุมเร้าอยู่หลายปัจจัย นับตั้งแต่เรื่องการเมืองที่ยังส่อแววยืดเยื้อและยังมองไม่เห็นฉากจบ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศซบเซา ตั้งแต่ภาคการบริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม และชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าว การลงทุนจากต่างประเทศซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอการลงทุนแล้ว รวมไปถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ย่อมมีการชะงักงันเนื่องจากไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เศรษฐกิจไทยปี 2557 จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าจะโต 4 5% ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ที่จะมีการปรับประมาณการกันลงมาที่ 3% หรือต่ำกว่านั้นครับ

มองไปที่ตลาดการเงินและเศรษฐกิจต่างประเทศ เริ่มเห็นปัญหาในตลาดเกิดใหม่ Emerging Market) อย่างอาร์เจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ ซึ่งล่าสุดค่าเงินอ่อนค่าอย่างหนัก จากปัญหาเงินไหลออก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศซึ่งร่อยหรอลงไปมาก คล้ายกับปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งที่เคยเกิดขึ้นกับบ้านเราในปี 2540 ความวิตกกังวลในตลาดเกิดใหม่ส่งผลกระทบต่อประเทศในเอเชียบางประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ๆ อย่างอินเดีย และอินโดนีเซีย โดยค่าเงินอ่อนค่าไปมากเช่นกัน แน่นอนว่าแม้ประเทศไทยจะมิได้มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากเท่ากับหลายประเทศที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งทุนสำรองเงินตราจัดว่ายังมีอยู่มากพอสมควร แต่ปัญหาการเมืองในประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็ได้กดดันค่าเงินบาทให้มีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องเช่นกัน

ผู้เขียนมองว่าปัญหาของประเทศในกลุ่ม Emerging Market น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และราคาของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงสั้น ทำให้ดัชนีของหุ้นในประเทศอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างมากประมาณ 20-50% ในปี 2556 มีการปรับฐาน อย่างไรก็ตามปัญหาวิกฤตค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ในครั้งนี้ ไม่น่าจะถึงขนาดฉุดทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประเทศในกลุ่ม G3 อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น น่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี เป็นอานิสงส์ให้การส่งออกของประเทศอื่น ๆ เติบโตตามไปด้วย หากมีการปรับตัวลงของตลาดหุ้นหลัก ๆ ของโลกน่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการทยอยสะสมการลงทุน

 

แนะนำลงทุนหุ้นญี่ปุ่น เอเชียเหนือ, ตราสารหนี้ระยะกลาง, และหุ้นกู้อนุพันธ์

สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2557 น่าจะไม่สูงมากเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มาโดยโตที่ประมาณ 10% ผู้เขียนมีมุมมองว่าตลาดจะปรับตัว sideway ในปีนี้โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 – 15% ซึ่งถือว่าไม่มากนักหากเทียบกับความผันผวนที่มีค่อนข้างมาก กลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับปีนี้คือ “ลงซื้อ ขึ้นขาย” โดยหาก P/E Ratio ของตลาดลงมาที่ 10 – 11 เท่าน่าจะเป็นจังหวะในการทยอยซื้อ แต่หาก P/E ปรับเพิ่มขึ้นไปเกิน  12-13 เท่าก็ควรที่จะขายทำกำไรออกมาบ้าง

ในการจัดพอร์ตการลงทุน ผู้เขียนเน้นย้ำเสมอให้แบ่งพอร์ตเป็นสองส่วน คือส่วนที่เสี่ยงสูง กับส่วนที่เสี่ยงต่ำ ถ้าเอาสูตรที่จำง่าย การลงทุนส่วนที่เสี่ยงสูงไม่ควรเกิน 100 – อายุของเรา) เว้นแต่เราเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากจริง ๆ สำหรับปี 2557 นี้ ในส่วนที่เสี่ยงสูง ผู้เขียนแนะนำให้กระจายการลงทุนจากหุ้นไทยไปลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มเอเชียเหนืออย่างเกาหลี หรือไต้หวัน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นอยู่ในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งการอัดฉีดด้านการเงินการคลัง รวมไปถึงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนประเทศในกลุ่มเอเชียเหนืออย่างเกาหลีนั้นได้รับประโยชน์จากการผลิตสินค้าส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี และรถยนต์ไปยังประเทศยักษ์ใหญ่ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้ นอกจากนี้การแบ่งสัดส่วนเล็ก ๆ 5 – 10% ไปลงทุนในทองคำก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับปีนี้ครับ ซึ่งทองคำจะทำหน้าที่หลักในการลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตในกรณีที่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ Emerging Market เกิดลุกลามไปมาก ความคาดหวังที่ต่ำของนักลงทุนต่อราคาทองคำจะเป็นตัวพยุงไม่ให้ราคาทองไม่น่าลงไปกว่านี้มากนัก

ในส่วนของพอร์ตส่วนที่รับความเสี่ยงต่ำ ผู้เขียนแนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้อายุปานกลางซึ่งเริ่มมีเสนอขายกันมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลงได้เล็กน้อยการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางจะได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาตราสารหนี้ นอกจากนี้การแบ่งเงินในส่วนเสี่ยงต่ำไปลงทุนในตราสารหนี้อนุพันธ์ (Structure note) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้นครับ โดยผู้เขียนแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้อนุพันธ์ที่อิงกับการแข็งค่าของเงินหยวนประเทศจีนที่มีแนวโน้มระยะยาวแข็งค่าต่อเนื่อง ทั้งนี้ท่านนักลงทุนสามารถติดต่อซื้อตราสารหนี้อนุพันธ์ได้ทางธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้อนุพันธ์เหล่านี้ครับ
Posted by Jessada at 2:45 PM in Investment Talk

 

[Trackback URL for this entry]

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« February »
SunMonTueWedThuFriSat
      1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728