Tuesday, 17 December 2019

สัญญาณการลงทุนที่เปลี่ยนไป

« High Frequency Trading | Main | Next Generation ของ DW »

บทความ ทางลัด นวัตกรรมการลงทุน (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 16 ธ.ค.62)

ก่อนจะหมดปี 2019 ในไตรมาสสุดท้ายนี้เราได้เห็นดัชนี SET ได้ปรับตัวลงหลุด 1600 มาแตะ 1550 การปรับตัวลงในรอบนี้มีจุดที่น่าสังเกตหลายๆอย่างที่ผมอยากสรุปไว้เพื่อให้นักลงทุนใช้เตรียมตัวกับการเริ่มต้นของปี 2020

ประเด็นแรกเป็นเรื่องของการปรับลงของดัชนีหุ้นไทยที่สวนทางกับดัชนีต่างประเทศอย่างชัดเจน ในช่วงไตรมาส สุดท้ายนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงไปประมาณ 6% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นประมาณ 5% หรือถ้าเทียบกับตลาดหุ้น Emerging Market ด้วยกันก็จะเห็นว่า ดัชนี MSCI Emerging Market ปรับขึ้นประมาณ 5% สวนทางกับประเทศไทยเช่นกัน

ประเด็นที่ 2 คือ ดัชนี VIX หรือที่เราเรียกกันว่าดัชนีความกลัว เริ่มหมดความขลังกับตลาดหุ้นไทยในไตรมาสที่4 สำหรับนักลงทุนที่คอยติดตามดัชนีนี้มาตลอดจะเห็นว่า ในไตรมาสนี้ดัชนี VIX ปรับตัวลงมาค่อนข้างรุนแรงซึ่งแสดงถึงความกังวลที่ลดลงของนักลงทุนสถาบันต่อมุมมองตลาดหุ้นโลก ซึ่งโดยปกติแล้วความกังวลที่ลดลงมักจะตามมาด้วยบรรยากาศการลงทุนที่คึกคักในประเทศไทยเหมือนในหลายๆปีที่ผ่านมา แต่ในรอบนี้ถือว่าตลาดหุ้นบ้านเราไม่ตอบรับในเรื่องนี้เลย

ประเด็นที่ 3 คือเรื่องสัญญาณ Inverted Yield Curve ถ้าเรายังจำกันได้ตั้งแต่ต้นปี 2019 นี้มีการพูดถึงกันตลอดว่าให้จับตาส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ 2 ปีและ10ปี ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ลงมาเกือบเท่ากัน และกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นช่วงๆตลอดปี อย่างไรก็ตามในไตรมาส 4 นี้ส่วนต่างตรงนี้กลับขึ้นไปในระดับปกติ หรือกล่าวได้ว่าความกังวลเรื่อง Inverted Yield Curve นั้นได้หายไป แต่กลายเป็นว่าตลาดหุ้นไทยแทบไม่ได้ตอบรับกับข่าวดีเรื่องนี้เลย

ประเด็นสุดท้ายในเรื่องผลกระทบของทิศทางดอกเบี้ย ถ้านักลงทุนยังจำกันได้ว่าในช่วงปลายปี 2018 ตลาดหุ้นไทยและหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความกังวลเรื่องทิศทางของดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงนั้นที่กำลังเป็นขาขึ้น โดยตลอดปี 2018 ทาง FED ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันทั้ง 4 ไตรมาส ซึ่งทำให้เกิดการไหลออกของสภาพคล่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตามในไตรมาส 4 ปีนี้ทิศทางของดอกเบี้ยนั้นเป็นขาลงแต่ตลาดหุ้นไทยกลับไม่ได้ตอบรับหรือความคาดหวังจากสภาพคล่องที่ควรจะกลับเข้ามาบ้าง

จากประเด็นที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนักลงทุนสังเกตว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมักจะตอบรับกับสัญญาณหรือข้อมูลต่างๆไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศหลักๆ แต่ในไตรมาส 4 นี้การตอบรับตรงนี้ได้หายไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยของตลาดหุ้นไทยเองในเรื่องตัวเลขผลประกอบการหลายๆบริษัทที่ออกมาค่อนข้างผิดหวังจากที่คาดการณ์กันไว้ และที่สำคัญที่สุดคือการโยกย้ายของ Fundflow ของนักลงทุนต่างประเทศที่คล้ายๆจะตัดสินไปแล้วว่าตลาดหุ้นไทยเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้านลบจาก Trade War

สำหรับในต้นปีหน้า แนวการลงทุนในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนจะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนในประเทศมากกว่าปัจจัยมหภาคในตลาดต่างประเทศ หุ้นที่อยู่ในรอบการเก็งกำไรจะเป็นหุ้นที่โดดเด่นในแง่ผลประกอบไตรมาส 4 ที่จะออกมาเพื่อพิสูจน์ตัวเองได้ว่าปลอดภัยจากสภาวะรุมเร้าทางเศรษฐกิจ มากกว่าการเก็งกำไรในภาพรวมของตลาดหุ้นไทยหรือดัชนี SET50

Posted by jenvit at 5:10 PM in KGI

 

[Trackback URL for this entry]

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« December »
SunMonTueWedThuFriSat
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031