Thursday, 20 August 2020
ดัชนี GOLD VIX
« Dividend Futures | Main | เรื่องไม่ควรมองข้ามในการเริ่มต้นอนุพันธ์ »นักลงทุนหลายๆท่านเริ่มคุ้นเคยกับดัชนี VIX หรือที่เรามักเรียกกันอีกชื่อว่าดัชนีความกลัว ดัชนี VIX เป็นดัชนีที่คำนวณและประกาศโดยตลาดอนุพันธ์ CBOE ซึ่งคำนวณมาจากค่าความผันผวนที่สะท้อนจากออปชั่นบนดัชนี S&P500 โดยถ้านักลงทุนมีความกังวลหรือกลัวมากๆ ก็จะไปสะท้อนผ่านราคาซื้อขายออปชั่นบน S&P500 และก็จะสะท้อนผ่านไปที่ดัชนี VIX ให้เราเห็นกันแบบไม่ต้องไม่นั่งติดตามวิเคราะห์ราคาออปชั่นกันเอง
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นอเมริกากลับปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่าหลายๆประเทศทั้งๆที่การแพร่กระจาย Covid-19 ในอเมริการุนแรงที่สุด รวมถึงกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจตัวเองและกระทบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเพราะตลาดหุ้นอเมริกาได้รับประโยชน์โดยตรงจากสภาพคล่องที่อัดฉีดเข้ามา หรือจากการที่หุ้นอเมริกามีหุ้นขนาดใหญ่หลายๆตัวที่ได้รับผลบวกจากการแพร่ระบาด Covid-19 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าดัชนีความกลัวที่คำนวณมาจากต้นทางที่เป็นดัชนี S&P500 สามารถสะท้อนความกลัวได้เพียงพอไหม เพราะการที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ทำให้ความกลัวสะท้อนผ่านดัชนี VIX ที่ปรับลดลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ตลาดหุ้นหลายๆประเทศที่ไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงกับมาตรการ QE เริ่มอยู่ในลักษณะขึ้นไม่ไหวและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงอาจแปลได้ว่าในช่วงเวลานี้ค่า VIX เป็นแค่ค่าดัชนีความกลัวของ S&P500 มากกว่าดัชนีความกลัวที่เกิดขึ้นจริงๆในหลายๆประเทศ
วันนี้ผมเลยนำดัชนี Gold VIX มาเล่าให้นักลงทุนได้รู้จักกัน ดัชนี Gold VIX หรือมีชื่อย่อว่า GVZ ที่ถึงแม้เราจะไม่ค่อยได้ยินในข่าวกันมากนัก แต่ก็เป็นอีกดัชนีในต่างประเทศที่เริ่มมีการพูดถึงกันตั้งแต่ต้นปีและนำมาเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการวิเคราะห์ความกลัวของนักลงทุนกัน โดยเป็นความกลัวที่สะท้อนผ่านความผันผวนของราคาทองคำแทนที่จะเป็นดัชนี S&P500 โดย Gold VIX นั้นจัดทำขึ้นโดย CBOE เช่นเดียวกับ VIX แต่เป็น
การคำนวณค่าความผันผวนที่สะท้อนจากออปชั่นบน SPRD Gold ETF ที่เป็นกองทุน ETF ที่อ้างอิงกับราคาทองคำโลกที่ใหญ่ที่สุด ยิ่งนักลงทุนมีมุมมองว่าราคาทองผันผวนขึ้นดัชนี Gold VIX ก็จะปรับตัวขึ้น โดยปกติแล้วในช่วงสถานการณ์ปกติราคาทองนั้นจะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ทำให้ค่าความผันผวนนั้นต่ำมาก ดัชนี Gold VIX จึงเป็นดัชนีที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจในช่วงเวลาปกติ อย่างไรก็ตามในสภาวะที่ทองคำได้รับความสนใจเป็นพิเศษในฐานะที่เป็นสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงจากสภาวะเศษฐกิจถดถอย หรือความเสี่ยงจากค่าเงินสกุลหลักๆ ดัชนี Gold VIX จะถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือประเมินความกลัวได้
จากรูปจะเห็นว่าโดยปกติแล้วดัชนี Gold VIX จะแกว่งขึ้นๆลงอยู่ประมาณ 20 จุดหรือบางทีลงไปต่ำที่ประมาณ 15 จุด เว้นแต่ในช่วงที่เกิดความกังวลจากข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ช่วงวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008-2009 ค่าดัชนี Gold VIX ขึ้นไปทำระดับสูงสุดกว่า 60 จุด และในช่วงระหว่างปี 2011-2012 ที่มีความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้ของหลายๆประเทศในยุโรปทำให้ดัชนีขึ้นไปแตะที่ 40 จุด และช่วงที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาด Covid-19 ในเดือนมีนาคมปีนี้ ดัชนี Gold VIX ปรับตัวขึ้นไปอย่างรุนแรงที่ 50 จุด
ผมเชื่อว่าในไตรมาสนี้ราคาทองจะมีความผันผวนไปอีกเรื่อยๆ นักลงทุนอาจลองติดตามดัชนีตัวนี้ได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามต้องระมัดระวังการนำดัชนี Gold VIX มาวิเคราะห์แบบรายวัน เพราะโดยปกติแล้วการเก็งกำไรราคาทองคำจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เวลาที่มีข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเข้ามาเท่านั้น แตกต่างจากดัชนี VIX ที่คิดจาก ดัชนี S&P500 ที่มีการแกว่งตัวขึ้นลงทุกวันตามข่าวสารที่เข้ามาเสมอไม่ว่าจะข่าวทั่วไปหรือข่าวใหญ่ ทำให้ดัชนี Gold VIX จะเหมาะกับการวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญๆเท่านั้น ไม่เหมาะกับการติดตามเป็นรายวันนั่นเอง
[Trackback URL for this entry]