Thursday, 21 November 2019

High Frequency Trading

« เทรดประกันภัยในตลาดหุ้น | Main | สัญญาณการลงทุนที่เปลี่ยนไป »

บทความ ทางลัด นวัตกรรมการลงทุน (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 18 พ.ย.62)

มีการพูดถึงกันเยอะถึงการซื้อขายด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในตลาดหุ้นไทยที่เรียกว่า High Frequency Trading (HFT) จริงๆแล้ว HFT ได้เริ่มเข้ามาซื้อขายในประเทศไทยมานานแล้ว และไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในต่างประเทศ HFT ถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของ Algo-Trading ซึ่งเป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยตัดสินใจและส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น

HFT มีจุดเด่นที่สำคัญกว่า Algo-Trading ทั่วไปคือการเน้นเรื่องของความเร็วในการส่งคำสั่ง เพื่อหวังผลกำไรจากส่วนต่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งต่างจาก Algo-Trading ประเภทอื่นที่ความสามารถในการทำกำไรนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์เลือกสรรหุ้น และคิดค้นกลยุทธ์ โดยที่ความเร็วในการส่งคำสั่งไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการทำกำไร ด้วยเหตุผลนี้ถ้านักลงทุนลองไปหาข้อมูลในต่างประเทศจะพบว่าถึงแม้ Algo-Trading จะมีหลายประเภทและมีการใช้กันอย่างหลากหลายในกลุ่มนักลงทุน แต่ปริมาณการซื้อขายจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นส่วนมามาจาก HFT ยกตัวอย่างเช่น จากข้อมูล Alite Group Survey ในปี 2013 มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในอเมริกา ประมาณ73% ของปริมาณซื้อขายทั้งหมดมากจาก HFT

การทำกำไรของ HFT นั้นมีหลายรูปแบบ แต่โดยหลักการแล้ว HFT จะเน้นการถือครอง Position ให้สั้นที่สุด โดยบางครั้งแล้วอาจถือครองเป็นหลักเสี้ยววินาทีเพื่อจำกัดความเสี่ยง กลยุทธ์ในรายละเอียดนั้นมีความซับซ้อนมากและแตกต่างกันในเรื่องของจังหวะที่ HFT จะส่งคำสั่ง หุ้นตัวไหนที่เลือกซื้อ แต่โดยทั่วไปแล้ว HFT มักจะชอบหุ้นที่มีการเหวี่ยงตัวแรงๆ มากกว่าหุ้นตัวใหญ่ๆที่อยู่นิ่งๆ ยิ่งเหวี่ยงแรง HFT ยิ่งมีโอกาสได้กำไรจากส่วนต่างช่องราคาหุ้นที่ขยับขึ้นหลายๆช่อง และขยับลงหลายๆช่อง จากข้อมูลสถิติในตลาดหุ้นอเมริกามีการเปิดเผยมาว่า สัดส่วนการซื้อขายของ HFT ในประเทศอเมริกาอาจมีมากถึง 90%ของปริมาณซื้อขายทั้งหมดในวันที่ตลาดหุ้นมีการแกว่งตัวแรง

หลักการข้างต้นของ HFT จะเห็นว่าการซื้อขายของ HFT มีปริมาณมากก็จริง แต่เป็นลักษณะซื้อขายจบภายในวันๆไป ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการลงทุนระยะยาว หรือไม่ได้เป็นการลงทุนที่มองทิศทางหุ้นในระยะยาว นักลงทุนไม่ควรกังวลว่าการเข้ามาของ HFT จะกระทบกับทิศทางของราคาหุ้นในระยะยาวตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานหุ้นตัวนั้นไม่เปลี่ยน แต่ในระยะสั้นการที่มี HFT อาจทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้บ้างอ้างอิงจากงานวิจัยหลายๆสำนักในต่างประเทศ เพราะหลักการที่สำคัญของ HFT คือจะเน้นเข้าลงทุนหุ้นที่ผันผวนมากกว่าหุ้นที่ไม่ผันผวนนั่นเอง

มาถึงตรงนี้แล้วนักลงทุนหลายๆท่านอาจเริ่มเชื่อว่า HFT นั้นทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำโดยที่มีความเสี่ยงที่น้อยมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วด้วยการที่ HFT นั้นสามารถทำกำไรได้ดีในช่วงแรกๆ สิ่งที่ตามมานั้นคือการเข้ามาของ HFT รายอื่นๆ และทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นระหว่าง HFT ด้วยกัน และนั่นหมายความว่า HFT ที่อยากได้กำไรมากขึ้นก็ต้องเริ่มมีกลยุทธ์ที่เสี่ยงมากขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าบริษัทที่มีการใช้ HFT ลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกานั้นมีอย่างน้อย 20,000 บริษัท นักลงทุนลองนึกภาพคร่าวๆว่า ปริมาณ Bid-Offer ของหุ้นตัวหนึ่งมีเท่าเดิม แต่มี HFT ประมาณ 2หมื่นบริษัทเข้ามาแย่งกันซื้อ การแข่งขันตรงนี้ทำให้ HFT บางค่ายเริ่มมีการคิดค้นกลยุทธ์บางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งในบางครั้งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่สูงขึ้น หรือในบางครั้งอาจเข้าข่ายการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลให้ตลาดหลักทรัพย์ในหลายๆประเทศได้มีการห้าม HFT ใช้กลยุทธ์บางประเภท เช่นที่เรียกกันว่า Spoofing และ Layering ซึ่งเป็นการวาง Order โดยมีจุดประสงค์ให้นักลงทุนรายอื่นเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Demand & Supply ของหุ้นตัวนั้น

ผมเชื่อว่าประเทศไทยเองการเข้ามาของ HFT จะมีมากขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นในต่างประเทศผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก็คงไม่แตกต่างกันมากนักในเรื่องของความผันผวนระยะสั้นของหุ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป เพราะเป็นเพียงแค่ความผันผวนระยะสั้น โดยที่ภาพใหญ่ของหุ้นยังตามพื้นฐานเดิม หรือหากมองอีกมุมหนึ่งเราสามารถมองว่าเป็นโอกาสในการเก็งกำไรได้ถ้านักลงทุนสามารถปรับตัวให้ทันกับสไตล์การลงทุนใหม่ๆที่เข้ามานั่นเอง

Posted by jenvit at 5:51 PM in KGI

 

[Trackback URL for this entry]

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« November »
SunMonTueWedThuFriSat
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930