Tuesday, 19 April 2022

ทำอย่างไร ให้ห่างไกลหนี้ท่วมหัวจากบัตรเครดิต

« All Season Portfolio กลยุทธ์การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในทุกวิกฤติ | Main | บันทึกรายจ่ายดีอย่างไร »

ทำอย่างไร ให้ห่างไกลหนี้ท่วมหัวจากบัตรเครดิต
ธีรพัฒน์ มีอำพล นักวางแผนการเงิน CFP®

 



        ในยุคที่บัตรเครดิตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพราะง่ายและสะดวกในการใช้จ่ายแทนเงินสด แถมมีความคุ้มค่าจากโปรโมชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด เครดิตเงินคืน รวมถึงมีระบบผ่อนจ่ายแบบสบายๆ ดังนั้น หากใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธี มีวินัย ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านการบริหารการเงินได้เป็นอย่างดี

        แต่เมื่อเชื้อไวรัส COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้ประเมินได้ยากว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อใด และแม้ว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว รวมถึงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่หนทางข้างหน้าก็ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก

        เมื่อสถานการณ์ยังไว้วางใจไม่ได้เช่นนี้ หากใครยังรูดบัตรเครดิตอย่างเพลิดเพลินและใช้อย่างผิดๆ อาจนำมาซึ่งปัญหาทางการเงิน ดังนั้น ก่อนรูดบัตรแต่ละครั้งต้องคิดให้ถ้วนถี่ และนี่คือเทคนิคการใช้บัตรเครดิตแล้วไม่เดือดร้อน

        จัดการหนี้เก่า อย่าให้เป็น “หนี้เสีย”

        สำหรับผู้ที่สามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้ เมื่อถึงเวลาจ่ายหนี้ก็ควรเลือกจ่ายแบบเต็มจำนวน แต่ถ้ารายได้เริ่มลดลงและมีแววว่าจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ไหว ควรวางแผนจ่ายหนี้ให้หมดก่อนที่จะกลายเป็น “หนี้เสีย” เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเครดิตทางด้านการเงินของตัวเอง

        แต่ถ้าประเมินแล้วว่าไม่สามารถผ่อนชำระได้จริงๆ ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ในการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในช่วงนี้ภาครัฐและสถาบันการเงินออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น ลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงินกู้ พักชำระหนี้ชั่วคราว พักชำระเงินต้น หรือจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ได้

        อย่าก่อหนี้เพิ่ม

        ในช่วงที่รายได้ไม่แน่นอน นอกจากต้องเร่งจัดการกับหนี้เก่าแล้ว ก็ไม่ควรก่อหนี้ก้อนใหม่ด้วย ถึงแม้บางคนจะบอกว่าตัวเองมีรายได้แน่นอน หางานใหม่ได้ไม่ยาก แต่อย่าลืมว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ถ้าย่ามใจไปก่อหนี้ใหม่แล้วเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น เจ็บป่วยจนทำงานไม่ได้ ลูกค้าหด กำไรหาย หนี้ก้อนใหม่จะกลายเป็นภาระและมีผลต่อเงินเก็บออมได้ อย่าลืมว่า การมีรายจ่ายหรือก่อหนี้ระยะยาวในช่วงที่ไม่มีความแน่นอนเป็นความเสี่ยงสูง

        สิ่งที่เป็นอันตรายอีกอย่างหนึ่งสำหรับการใช้บัตรเครดิต คือ ข้อเสนอของโปรโมชั่นผ่อน 0% เพราะถ้าผ่อนไปแล้วเกิดรายได้หดหายจนไม่สามารถผ่อนต่อได้ เกิดการผิดนัดชำระหรือจ่ายเงินผ่อนชำระค่างวดแบบขั้นต่ำ สิ่งที่ตามมา คือ ดอกเบี้ย

        ดังนั้น ก่อนจะผ่อนอะไรต้องมั่นใจว่าสามารถจ่ายเงินในแต่ละงวดได้ไปจนครบกำหนดตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ที่สำคัญควรผ่อนข้าวของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น

        ใช้จ่ายอย่างมีสติ

        เป็นที่รับรู้กันดีว่าบัตรเครดิต คือ การซื้อสินค้าและบริการก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง ดังนั้น ควรกำหนดวงเงินการใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้รูดบัตรจนเกินกำลังการจ่ายหนี้คืนในแต่ละงวด

        สำหรับผู้ที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนมือเติบ ก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายด้วยการคิดให้รอบคอบก่อนจะรูดบัตรเพื่อซื้อข้าวของ เช่น ข้าวของชิ้นที่จะซื้อวันนี้มีแล้วหรือยัง หรือจำเป็นกับชีวิตในตอนนี้หรือไม่ ถ้ารูดบัตรไปแล้วจะมีเงินชำระหนี้เต็มจำนวนหรือไม่ ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวงก็ควรหักห้ามใจในการใช้บัตรเครดิต

        กดเงินสดจากบัตรเครดิต อย่าหาทำ

        แม้ว่าบัตรเครดิตจะใช้กดเงินสดได้ แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด เพราะวัตถุประสงค์หลักของบัตรเครดิต คือ มีไว้สำหรับการรูดซื้อสินค้าและบริการ หากนำไปกดเงินสดก็จะเสียทั้งค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยสูงมาก เพราะดอกเบี้ยจะคิดตั้งแต่วันที่กดเงินสดเลย

        อย่าใช้จนเต็มวงเงิน

        เมื่อไม่มีใครล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตและไม่รู้ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นเมื่อใด เช่น เจ็บป่วยต้องการใช้เงินด่วนก้อนหนึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล สมมติว่าตอนนั้นมีเงินไม่เพียงพอ บัตรเครดิตก็เป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่ช่วยได้ โดยเฉพาะช่วงที่ไม่มีเงินสดติดตัว ดังนั้น ควรเก็บวงเงินบัตรเครดิตไว้สำหรับสำรองค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินด้วย

        จะว่าไปแล้วการมีบัตรเครดิตถือเป็นดาบสองคม ถ้าใช้แบบไม่ยั้งคิดอาจทำให้ชีวิตการเงินล้มเหลว หนี้สินท่วมหัว ตรงกันข้ามหากใช้อย่างระมัดระวัง มีวินัยทางการเงิน รวมถึงมีสติในการใช้จ่ายทุกครั้งย่อมห่างไกลจากการเป็นหนี้ท่วมหัว ขณะเดียวกันก็ได้ใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิตได้อย่างเต็มที่

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand  , สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th     

 

 

[Trackback URL for this entry]

Your comment:

(not displayed)
Code:
 
 
 

Live Comment Preview:

 
« April »
SunMonTueWedThuFriSat
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930